กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กทม.
ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 45 เวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ และผู้เกี่ยวข้อง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาในระดับใดหรือทุกระดับได้ตามความพร้อมและความเหมาะสมของท้องถิ่น ประกอบกับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครดำเนินการเรื่องการจัดการศึกษาด้วย
กรุงเทพมหานครตระหนักถึงภาระกิจดังกล่าว ตลอดจนพิจารณาเห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและสถานที่ในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันมี 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ โดยทั้งสองแห่งมีสถานภาพเป็นสถาบันการศึกษาสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล มีความสามารถผลิตแพทย์และพยาบาลได้ประมาณปีละ 30 และ 150 คนตามลำดับ นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีความสามารถจัดการศึกษาด้านอื่น ๆ ได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีแนวนโยบายให้กรุงเทพมหานครจัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครขึ้น โดยขยายขอบเขตการศึกษาไปสู่แขนงวิชาอื่นที่สามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนากรุงเทพมหานคร รวมทั้งเป็นการขยายการให้บริการการศึกษาสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนด้วย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครขึ้น ซึ่งมีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นกรรมการที่ปรึกษา น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ และมีผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น เป็นกรรมการ ทั้งนี้คณะกรรมการดังกล่าวได้มีการประชุมต่อเนื่องมาหลายครั้ง สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการสรุปผล โดยที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความเหมาะสมและจะนำผลการประชุมนี้จัดทำเป็นโครงการเสนอต่อที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร จะมีการจัดการศึกษา 4 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่มีอยู่เดิมและให้ใช้สถานที่เดิม นอกจากนี้จะจัดตั้งคณะขึ้นใหม่ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม (ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการและการบริหารจัดการเมือง) และคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ซึ่งในชั้นต้นจะจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งสำนักงานอธิการบดี ซึ่งจะใช้สถานที่ภายในโรงพยาบาลสิรินธรที่กำลังจะเปิดให้บริการบริเวณถนนอ่อนนุชในเร็ววันนี้ อนึ่งหากผู้บริหารกทม.มีมติเห็นชอบก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแผนแม่บทเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป--จบ-- -นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit