ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศระดับ BBB+(tha) แก่หุ้นกู้มีประกันของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

29 Jul 2002

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ -กรุงเทพฯ/ลอนดอน- 29 กรกฏาคม 2545: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิต ภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ "BBB+(tha)" แก่หุ้นกู้มีประกันชนิดทยอยชำระเงินต้นของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2545 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2548 มูลค่า 1.7 พันล้านบาท อันดับเครดิตของหุ้นกู้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มบริษัทรวมถึงมูลค่าหลักประกันของตัวหุ้นกู้

โดยกลุ่มบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจดจำนองที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรของบริษัทและบริษัทย่อย คือ บริษัท ปาร์ติเกิ้ล เเพลนเนอร์ จำกัด เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ ได้ถูกนำไปชำระคืนเงินกู้บางส่วนของกลุ่มบริษัทจำนวน 3.4 พันล้านบาท หุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับเงินกู้ยืมธนาคารแบบมีหลักประกันของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปาร์ติเกิ้ล เเพลนเนอร์ จำกัด

มูลค่าหลักประกันของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปาร์ติเกิ้ล เเพลนเนอร์ จำกัด อยู่ที่ระดับ 3.0 พันล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราส่วนมูลค่าหลักประกันต่อจำนวนเงินกู้ยืมที่ 131% ในขณะที่มูลค่าหลักประกันรวมของกลุ่มบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.8 พันล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราส่วนมูลค่าหลักประกันต่อจำนวนเงินกู้ยืมที่ 146%

บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 ราย คือ ตระกูลสหวัฒน์ และตระกูลเจริญนวรัตน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารของบริษัท บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นเอ็มดีเอฟ (Medium Density Fiberboard) และแผ่นปาร์ติเกิ้ล (Particle Board) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ สะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศของบริษัททั้งในธุรกิจแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ล รวมถึงฐานรายได้จากการส่งออก บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต เนื่องจากมีโรงงานผลิตกาว ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลัก เป็นของตนเอง นอกจากนี้บริษัทยังมีจุดแข็งทางด้านการควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการ

อันดับเครดิตนี้ยังสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ในอดีต บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาทางด้านการเงิน เนื่องจากได้รับผลกระทบทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศรวมถึงมีหนี้สินเพิ่มจากการดำเนินโครงการใหม่ ซึ่งส่งผลให้บริษัทเข้าทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2542

หลังจากนั้น สถานะทางการเงินของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการจำกัดการลงทุน หนี้สินสุทธิของกลุ่มบริษัทได้ลดลงจากระดับ 6.9 พันล้านบาทในปลายปี 2541 มาอยู่ที่ระดับ 3.4 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2545 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt /EBITDA) ลดลงจากระดับ 13.6 เท่าในปี 2541 เป็น 1.7 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2545 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA / interest expense) เพิ่มขึ้นจาก 0.6 เท่า ในปี 2541 เป็น 6.8 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2545

ในส่วนมุมมองทางด้านอุตสาหกรรม แม้ว่ามีการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในสินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินของแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลในสัดส่วน 70% และ 50% ตามลำดับ ซึ่งอุปทานส่วนเกินนี้ส่งผลให้ผู้ผลิตแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน และเกาหลี ซึ่งการแข่งขันมีความรุนแรง ถึงแม้ว่าบริษัทมีการเติบโตของรายได้จากการส่งออกที่สูงนับตั้งแต่ปี 2542 อันดับเครดิตสะท้อนถึงโอกาสที่ค่อนข้างจำกัดในการเติบโตของผลประกอบการของบริษัทในระยะ 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจุบันบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีการเดินเครื่องจักรที่เต็มกำลังการผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 2 ประเภท นอกจากนี้อุปทานส่วนเกินในประเทศและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดต่างประเทศ น่าจะส่งผลให้ราคาของแผ่นเอ็มดีเอฟและแผ่นปาร์ติเกิ้ลไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ยังได้พิจารณาถึงแผนการขยายกำลังการผลิตแผ่นปาร์ติเกิ้ลของกลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 3.0 พันล้านบาท โรงงานแห่งใหม่จะมีกำลังการผลิต 450,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะเริ่มทำการผลิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2547 ในขณะที่แผนการขยายกำลังการผลิตจะส่งผลให้ระดับหนี้สินของกลุ่มบริษัทสูงขึ้น ฟิทช์เห็นว่าสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันจะสามารถรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นได้โดยไม่กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน Net Debt /EBITDA ของกลุ่มบริษัทจะอยู่ระหว่าง 1.5-2.5 เท่า ในช่วงปี 2545-2547

สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์ของบริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หาได้จาก www.fitchratings.com หรือ ติดต่อ

อรวรรณ การุณกรสกุล, CFA , ผู้อำนวยการ ภาคอุตสาหกรรม

+662 655 4760

วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์ ภาคอุตสาหกรรม

+662 655 4763

Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ

+662 655 4759

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--

-ศน-