กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม
เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ จึงมีภาระผูกพันที่จะต้องจัดให้มีบริการเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย กอปรกับตามภาคผนวก 12 แห่งอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้เสนอแนะให้ภาคีสมาชิกจัดให้มีการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นตัวแทนสายการบินและการเดินเรือต่าง ๆ ที่ทำการเดินทางเข้าออกประเทศไทย พยายามผลักดันให้มีบริการด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าระหว่างเดินทางอยู่ในประเทศไทย หากเกิดเหตุประสบอุบัติภัยอย่างน้อยยังมีหน่วยงานของรัฐคอยให้ความช่วยเหลืออยู่และรัฐบาลก็มีความห่วงใยในเรื่องนี้
ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2521 ให้จัดตั้งองค์กรเพื่อการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยแห่งชาติขึ้น โดยกำหนดให้กรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและหลักการในการค้นหาและช่วยเหลือฯ กำหนดมาตรการในการดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือในเขตความรับผิดชอบของประเทศ พิจารณาการทำความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการค้นหาและช่วยเหลือฯ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฎิบัติงานตามความจำเป็นและมอบหมายให้กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า และกรมการบินพาณิชย์ ผลัดเปลี่ยนกันเป็นหน่วยงานหลักจัดการฝึกซ้อมค้นหาและช่วยเหลือ สาธิต จัดนิทรรศการ และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอากาศยานและเรือที่ประสบภัย การฝึกซ้อมได้เริ่มครั้งแรกในปี 2523 และจัดต่อเนื่องกันมาทุกปี
การฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ฝึกซ้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชำนาญและมีความพร้อมอยู่เสมอ
2. ทดสอบระบบการติดต่อสื่อสารทั้งข่ายภายในประเทศและข่ายต่างประเทศ ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ทดสอบประสิทธิภาพของศูนย์ประสานงานฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถดำเนินการได้รวดเร็วเพียงใด
4. แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนประเทศข้างเคียงที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การฝึกซ้อมฯ รวมทั้งประเมินผลเพื่อนำข้อบกพร่องหรืออุปสรรคต่าง ๆ ของการฝึกซ้อมมาพิจารณาปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
สำหรับในปี 2545 คณะกรรมการแห่งชาติในการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ได้ประชุม ครั้งที่ 73 (1/2545) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 มีมติมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นแกนกลางในการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย โดยจะจัด ณ ท่าอากาศยานหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 31 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2545
การกำหนดการฝึกซ้อมฯ ในปีนี้ จะมีการสาธิตกรณีการค้นหาอากาศยานที่ประสบภัยและจัดกำลังเข้าทำการช่วยเหลือตามความจำเป็น รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนด้วย
การฝึกซ้อมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทดสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการวางแผน การประสานงาน การอำนวยการ การควบคุมการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะความพร้อมและความชำนาญ รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ขีดความสามารถ ศักยภาพ ตลอดทั้งทำให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ มีความมั่นใจในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์เร่งด่วน รวมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากหน่วยงาน ต่าง ๆ ตลอดจนประเทศข้างเคียงที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ฝึกซ้อมฯ เพื่อที่จะนำมาประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ 10100โทร. 0-2282-9476,0-2282-9959 โทรสาร 0-2281-6300 --จบ--
-พส/สส-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit