ปตท.-ระยองโอเลฟินส์ ลงนามซื้อขายก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีแอล ผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

08 Aug 2002

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ปตท .

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายอดิศร พลอยสังวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย ได้ร่วมลงนามข้อตกลงเบื้องต้นในการซื้อขายก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีแอล เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทิลีนและโพรพิลีน ของ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ฯ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีแอล กับ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ฯ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการการผลิตเอทิลีนและโพรพิลีนของบริษัทฯ โดย บริษัทฯ จะรับก๊าซแอลพีจี จาก ปตท. เฉลี่ย 50,000 – 100,000 ตันต่อปี และ เอ็นจีแอล เฉลี่ย 35,000-70,000 ตันต่อปีตามลำดับ เป็นระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ธันวาคม 2545 จนถึงธันวาคม 2560 โดยในช่วงแรก จะรับก๊าซฯ จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จ.ระยอง ในส่วนที่เหลือจากความต้องการในประเทศ และจะรับในปริมาณเพิ่มขึ้นเท่าตัว ภายหลังจากที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 จ.ระยอง เดินเครื่องผลิตในปี 2547

“การขายก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีแอลให้กับบริษัท ระยองโอเลฟินส์ฯ ครั้งนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรก๊าซธรรมชาติทดแทนการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย ปตท. มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ อีเทน โพรเพน แอลพีจี และเอ็นจีแอล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี“ นายประเสริฐ กล่าว

นายอดิศร พลอยสังวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเซ็นสัญญาตกลงซื้อขายก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีแอลกับ ปตท. ครั้งนี้นับว่าเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทของคนไทยอย่างดียิ่ง เพราะ บริษัทฯ สามารถลดการนำเข้า “แนฟทา” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทลงได้ปีละกว่า 750-1,500 ล้านบาท และยังเพิ่มความมั่นใจในการผลิตว่าจะมีวัตถุดิบรองรับอยู่ตลอดเวลา”

-2-

อนึ่ง โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ปตท. เป็นการสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติ โดยแยกก๊าซมีเทนเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ก๊าซอีเทน โพรเพน แอลพีจี และ เอ็นจีแอล ใช้เป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ปัจจุบัน ปตท. มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 4 โรง มีความสามารถแยกก๊าซธรรมชาติได้สูงสุด 1,180 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1, 2 และ 3 ตั้งอยู่ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 4 ตั้งอยู่ ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มีการผลิตอีเทน จำนวน 514,000 ตันต่อปี โพรเพน จำนวน 502,000 ตันต่อปี แอลพีจี จำนวน 945,000 ตันต่อปี เอ็นจีแอลผลิตได้ 193,000 ตันต่อปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อเป็นการรองรับการขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถแยกก๊าซธรรมชาติได้วันละ 530 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีกำลังการผลิตอีเทน 500,000 ตันต่อปี โพรเพน 170,000 ตันต่อปี แอลพีจี 480,000 ตันต่อปี (ส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศเป็นก๊าซหุงต้ม) เอ็นจีแอล 100,000 ตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2547

สำหรับ บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด เป็น บริษัทในเครือเคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย มีกำลังการผลิตเอทิลีน 800,000 ตันต่อปี โพรพิลีน 400,000 ตันต่อปี โรงงานตั้งอยู่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง โดยเป็นบริษัทฯ ที่มีระบบการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยมจนได้รับการรับรองคุณภาพ ISO 14001 และ ISO 9002 จาก SGS รวมทั้งได้รับรางวัลด้านบริหารจาก กระทรวงอุตสาหกรรม--จบ--

-สส-