กทม.จัดสัมมนา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แก่ผู้บริหาร

22 Feb 2002

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--กทม.

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ.45) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรม เอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แก่ข้าราชการระดับ 6 - 10 และผู้เกี่ยวข้อง

น.ส.นินนาท ธรรมิกนาท ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานในพิธีเปิดว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ในการให้บริการประชาชน รวมถึงการจัดบริการสาธารณะต่างๆ อีกทั้งคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่พึงจะได้รับ ดังนั้นข้าราชการผู้ให้บริการต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของกฎหมาย แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วนั้นเป็นกฎหมายใหม่ อาจก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องการตีความ โดยอาจเป็นเรื่องละเมิดในทางปกครอง หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับสัญญาทางปกครอง โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ เป็นคดีที่มีข้อพิพาททางกฎหมายปกครอง ระหว่างเอกชนกับหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานจึงจำเป็นต้องรู้จักและทำความเข้าใจพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิต่างๆ ของประชาชน หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องตามเจตนารมย์ของกฎหมาย การจัดการสัมมนาเพื่อความรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ ได้จัดให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ระดับ 6 – 10 ของทุกหน่วยงาน รวมจำนวน 929 คน โดยแบ่งเป็น 10 รุ่นๆ ละ 1 วันทำการ โดยรุ่นที่ 1 เป็นการสัมมนาข้าราชการระดับ 8 – 10 และรุ่นที่ 2 – 10 เป็นการสัมมนาข้าราชการเขต ระดับ 6 – 7 ทั้งนี้ได้รับได้รับความร่วมมือจากศาลปกครอง ในการจัดส่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ในครั้งนี้ด้วย

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เนื่องจาก “ศาลปกครอง” มีขึ้นเพื่อเป็นองค์กรหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจของทางราชการ รวมทั้งปกป้องสิทธิของประชาชนและคุ้มครองประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ ด้วยการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างจ้าหน้าที่กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องในด้านการบริการส่งผลให้ผู้ที่รับบริการได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติและสามารถถ่ายทอดประสบการณ์แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องต่อไป--จบ--

-นห-