กทม.จัดสัมมนาโครงการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันออกของกทม.

28 Feb 2002

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กทม.

เมื่อวันที่ (26 ก.พ. 45) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมโซลทวินทาวเวอร์เขตปทุมวัน นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โครงการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร (พื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา) โดยมีนายศิริ เปรมปรีดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมผังเมือง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมทางหลวง และผู้เกี่ยวข้องร่วมสัมมนา

ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร (พื้นที่เขตมีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา) เป็นโครงการซึ่งสำนักผังเมืองได้ดำเนินการร่วมกับคณะที่ปรึกษา จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพราะสภาพลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ซึ่งมีความเหมาะสมในการเกษตรกรรมทำนาข้าว และคุณประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครตลอดมา คือ เป็นแหล่งผลิตธัญพืช และป้องกันน้ำท่วมที่มาจากทางตะวันออกของกรุงเทพฯ และเนื่องจากสถานการณ์การเจริญเติบโตของชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการขยายตัวของเมืองออกไปในพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพมหานครในทุกทิศทาง ประกอบกับนโยบายของกรุงเทพมหานครที่จะให้มีการพัฒนาความเจริญให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยให้มีความสัมพันธ์กับ ศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของประชาชน กรุงเทพมหานครจึงพยายามศึกษาหาแนวทางที่จะทำการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้มีความเหมาะสมกับข้อมูลความเป็นจริง สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเจ้าของพื้นที่

ทั้งนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ได้มีการประกาศบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยได้รับการปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 1 และประกาศบังคับใช้ในปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจข้อมูลเพื่อเตรียมการปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยมีกำหนดจะประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2547 ดังนั้น สำนักผังเมืองจึงต้องการข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากหลายๆ มุมมอง ทั้งด้านวิชาการข้อมูลความจริงของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาประมวลร่วมกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรรมฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ที่เหมาะสม สำหรับการสัมมนาในวันนี้เป็นการนำเสนอข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาของคณะที่ปรึกษาฯ มาเสนอต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ ผู้แทนสถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ ผู้แทนชุมชนในพื้นที่ ประชาชนผู้สนใจ และข้าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ต่อไป

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่มีกิจกรรมหลากหลาย โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างรวดเร็ว การวางผังเมืองเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะได้ผลตามวัตถุประสงค์คือมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองประสานกับความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ถ้าเมืองนั้นได้รับการออกแบบวางผังไว้ล่วงหน้าอย่างเหมาะสม และประชาชนสามารถปฏิบัติตามผังที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 1,568 ตารางกิโลเมตร และมีความแตกต่างทางด้านกายภาพในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการดำเนินการพัฒนากรุงเทพมหานครให้มีความเจริญทั่วถึงในทุกพื้นที่เป็นงานที่ต้องใช้เวลา งบประมาณ ตลอดจนการวางแผนงานและนโยบายโครงการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการประสานแนวความคิดร่วมกันจากมุมมองที่หลากหลาย ทั้งทางด้านวิชาการ นักปฏิบัติ และนักบริหารจัดการเมือง จะทำให้ได้รับแผนงานโครงการพัฒนาเมืองที่มีความสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ และสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อความเท่าเทียมกันในสิทธิประโยชน์ในการใช้พื้นที่ รวมทั้งเพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนสำหรับชาวกรุงเทพมหานครตลอดไป--จบ--

-นห-