(ต่อ1) RETURN TO NEVER LAND ปีเตอร์ แพน ผจญภัยท่องแดนมหัศจรรย์ กำหนดฉาย 22 มีนาคม 2545

06 Mar 2002

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--โคลัมเบีย ไทรสตาร์ บัวนาวิสต้า

ต้นกำเนิดของหนัง

การสร้างสรรค์ภาคต่อของผลงานคลาสสิคปี 1953 ของดิสนีย์ครั้งนี้เริ่มต้นจากการวางรากฐานให้กับองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของหนังดิสนีย์ทุกเรื่อง นั่นคือ การสร้างเรื่องราวที่ดี โดยเคล็ดลับอยู่ตรงการค้นหาพล็อตเพิ่มเติมจากต้นฉบับที่ดูสมเหตุสมผลและเป็นธรรมชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้คนดูได้กลับมาเยี่ยมเยือนตัวละครและสถานที่เดิมๆอีกครั้ง พร้อมๆกับการได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ไปด้วย

"สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องราว และการนำเสนอเรื่องที่บอกเล่าความคืบหน้าเพิ่มเติมให้แก่ตัวละครเพื่อให้คนดูมีโอกาสได้ใช้เวลามากขึ้นกับตัวละครเหล่านี้ที่สร้างความเพลิดเพลินอิ่มเอิบแก่คนดูมาแล้วหลายรุ่น" คือคำกล่าวของ แชรอน มอร์ริลล์ รองประธานฝ่ายบริหารของวอลท์ ดิสนีย์เทเลวิชั่นแอนิเมชั่น และผู้บริหารโครงการนี้ "โดยในอันที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น เราต้องแน่ใจให้ได้ก่อนว่า หนังจะยังมุ่งไปในทิศทางและจิตวิญญาณเดียวกันกับต้นฉบับ ขณะที่ก็ต้องสร้างความรู้สึกสดใหม่ซึ่งคนดูรุ่นปัจจุบันและอนาคตจะพออกพอใจด้วย"

นอกจากนั้น ทีมงานยังต้องเอาชนะความกดดันในการเดินตามรอยผลงานเรื่องนี้ซึ่งถือเป็นหัวใจและเป้าหมายแท้จริงแห่งการทำหนังของวอลท์ อีกทั้งยังถึงพร้อมด้วยงานสร้างสวยสดงดงามจากฝีมือของทีมแอนิเมเตอร์มืออาชีพของดิสนีย์ด้วย

"งานนี้น่าตกใจไม่น้อยสำหรับผม เพราะยิ่งเราวิเคราะห์หนังต้นฉบับมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งตระหนักว่างานกำกับศิลป์ของมันเรียบง่ายเหลือเชื่อขนาดไหน" ผู้กำกับโรบิน บัดด์ เล่าให้ฟัง "ซึ่งการสร้างความเรียบง่ายแบบนั้นเป็นงานที่ยากเกินกว่าที่ผมเคยคิดเอาไว้มาก และต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่จากทีมงานด้วย"

"การทำภาคต่อของแอนิเมชั่นระดับคลาสสิคถือเป็นงานที่น่าหวาดหวั่นเอาเรื่องเลย" เชสยอมรับ "พวกเราจึงต้องมั่นใจเสมอว่า ทุกๆเฟรมเต็มไปด้วยความสนุกสนานและน่าอัศจรรย์ใจเพื่อจะให้เกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับผลงานคลาสสิคที่ผู้คนรักกันนั่นเอง"

ทีมงานชั่งน้ำหนักเป็นอย่างดีในการสร้างภาคต่อของงานดิสนีย์คลาสสิคเรื่องนี้ ระหว่างการเคารพต้นฉบับเต็มที่ และการนำพาทั้งตัวละครกับผู้ชมไปพบการผจญภัยและอารมณ์แปลกใหม่ที่จะสร้างความรู้สึกประทับใจเช่นเดียวกับหนังเรื่องแรก ตัวละครนำอย่างเจนนั้นเป็นส่วนผสมอันพอเหมาะพอเจาะของงานออกแบบแบบดั้งเดิมและการเติมเสน่ห์แบบสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ชาร์ลี โบนิฟาซิโอ พรี-โปรดัคชั่นอาร์ติสต์ ทำได้ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

"งานชิ้นนี้นับเป็นการทุ่มเทด้วยใจรักล้วนๆ เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ก็ล้วนแต่เป็นคนที่หลงรักหนังต้นฉบับมาแล้วทั้งนั้น" แมธิวส์ว่า "เคล็ดลับอยู่ตรงที่อย่าไปเคารพหนังต้นฉบับมากเสียจนไม่กล้าเล่นอะไรเลย นี่ต่างหากที่จะทำให้หนังสนุกขึ้นมาได้จริงๆ"

"ภาคสองฉลาดตรงที่เล่าเหตุการณ์กลับกันกับภาคแรก" โดโนแวน คุ้ก ผู้ร่วมกำกับกล่าว "ภาคแรกเป็นเรื่องของเด็กสาวตัวน้อยที่หวาดกลัวการเติบโต แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องสูญเสียความเยาว์วัยไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนในภาคต่อของเรานี้ เจนจะได้เรียนรู้ว่าเราไม่จำต้องหันหลังให้กับความเยาว์วัยในอันที่จะโตเป็นผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบ ว่าไปแล้วก็คือข้อคิดเดียวกันแต่มาจากสองทิศทางที่ต่างกันนั่นเอง"

และเช่นเคย แนวคิดนี้ยังคงมาพร้อมความท้าทาย "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นของเราก็คือการต้องอธิบายให้ได้ว่า เด็กหญิงผู้ตกอยู่ท่ามกลางสภาพขัดแย้งรุนแรงอย่างนั้นจะเดินทางไปแดนมหัศจรรย์และไม่อยากกลับมาได้อย่างไร" คุ้กกล่าว "ประวัติศาสตร์ให้คำตอบกับเราจากเหตุการณ์อพยพเด็กอังกฤษไปสู่สถานที่ปลอดภัยในชนบท ขณะที่ตัวเจนเองยังต้องการปกป้องน้องชายคนเล็กของเธอ เธอสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้และก็เกิดความเชื่อใหม่ๆได้ แต่ถึงอย่างไรเธอก็ยังคงรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่จะต้องกลับไปหาแดนนี่อยู่ดี"

หนึ่งในความแตกต่างเด่นๆของภาคแรกกับภาคสองก็คือ การเปิดตัวคู่แค้นรายใหม่ของกัปตันฮุค ในช่วงห่างหลายปีระหว่างการมาเยือนของเวนดี้และของเจนนั้น ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนไปเท่าไหร่นักในแดนมหัศจรรย์ยกเว้นเรื่องสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง จระเข้ซึ่งเป็นศัตรูตัวเอ้ของกัปตันฮุคหายหน้าไปจากท้องทะเลสีครามเสียแล้ว และถูกแทนที่โดยปลาหมึกยักษ์ซึ่งก็ยังมีรสนิยมชื่นชอบรสชาติของโจรสลัดเหมือนเดิม โดยเฉพาะโจรสลัดแขนเหล็กยิ่งเป็นของโปรด เจ้าปลาหมึกตัวนี้ก็ไม่ต่างจากจระเข้ตรงที่เป็นสัญลักษณ์ย้ำเตือนให้ฮุคต้องนึกถึงสภาพของตัวเองบ่อยๆ เพราะมันชอบใช้หนวดทำเสียงกวนประสาทคล้ายกับคนที่ชอบหักนิ้วด้วยความเมามันอย่างไรอย่างนั้น

"การสร้างตัวละครปลาหมึกทำให้เราได้วิธีแปลกๆในการทรมานกัปตันฮุคด้วยฝีมือศัตรูใต้น้ำตัวใหม่" มอร์ริลล์อธิบาย "ส่วนถ้ามองในแง่ของการทำแอนิเมชั่น ปลาหมึกก็เป็นตัวละครที่น่าสนุก เพราะมีทั้งแขนยาวเฟื้อย เลื้อยคืบน่าสยอง แถมยังมีนิสัยขำๆอีกด้วย"

ท้ายที่สุด ทีมงานยังต้องถกเถียงกันถึงตอนจบของเรื่องซึ่งมีตั้งแต่การกลับมาพบกันอีกครั้งระหว่างปีเตอร์ แพนกับเวนดี้ซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่ และเรื่องการกลับจากสงครามของพ่อเจน โดยหลักๆแล้ว ฉากจบของเรื่องเปิดโอกาสให้ใส่เหตุการณ์สร้างอารมณ์ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและให้ความหวังแก่ทุกๆคน

"ผมคิดว่าธีมของหนังบรรลุถึงจุดสมบูรณ์แล้วเมื่อปีเตอร์ได้พบกับเวนดี้ตอนโต" มอร์ริลล์บอก "เป็นฉากที่น่ามหัศจรรย์ใจและชวนให้หวนรำลึกถึงอดีต ทั้งยังให้อารมณ์ลึกซึ้งโดยไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะมันชัดเจนเหลือเกินแล้วทั้งแก่ปีเตอร์และคนดูว่า เวนดี้ไม่เคยหยุดเชื่อความอัศจรรย์เลย เราต้องรักษาความมหัศจรรย์และจินตนาการไว้ในหัวใจของเด็กๆ แต่เท่านั้นก็ยังไม่เพียงพอ ผมคิดว่าเรายังจำเป็นต้องจุดมันให้ลุกโพลงขึ้นในตัวของเราทุกคนด้วย"

"ผมคิดว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว" เชสเพิ่มเติม "เจนได้ผ่านพบการผจญภัยอันยิ่งใหญ่นี้ ได้เรียนรู้บางอย่างเกี่ยวกับตัวเธอเอง แล้วเธอก็กลับบ้านและพ่อของเธอก็กลับจากสงคราม ซึ่งคุณจะรู้สึกได้ว่าชีวิตของเธอนับจากนี้กำลังจะดีขึ้น มันเป็นการมองอนาคตในแง่ดีและอย่างสวยงาม"

งานกำกับศิลป์และวิชวลเอฟเฟ็คต์ส

ทีมงานใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากห้องสมุดค้นคว้าข้อมูลของดิสนีย์แอนิเมชั่นในการศึกษาแหล่งวัตถุดิบของหนังต้นฉบับ ตั้งแต่ภาพสเก็ตช์กัปตันฮุคของแฟรงค์ โธมัส ไปจนถึงภาพวาดปีเตอร์ แพนของมิลต์ คาห์ล ซึ่งพิมพ์เขียวเหล่านี้สร้างความทึ่งให้แก่ทีมแอนิเมเตอร์ของ Return to Never Land อย่างยิ่ง

"การเป็นเซียนแอนิเมชั่นนั้นทำให้ผมรู้สึกราวกับอยู่ในสวรรค์เลยล่ะ" บัดด์เล่า "เหมือนเด็กได้เข้าร้านขายขนม ได้เห็นว่า 'มือเก๋าทั้งเก้า' จัดการกับตัวละครเหล่านี้ยังไงบ้าง"

ทีมงานของบัดด์ได้รับแรงบันดาลใจเป็นพิเศษจากภาพดรออิ้งของคาห์ลตอนปีเตอร์ แพนกำลังรื้อหีบของเล่นในเนอร์สเซอรี่จนกระจุยกระจาย "นี่เป็นการค้นพบอย่างแท้จริงเลย เพราะมิลค์ คาห์ลสามารถจับภาพปีเตอร์ตอนเด็กซึ่งไม่ได้เท่หรือดูดีตามแบบฉบับคลาสสิคเท่าไหร่ จริงๆแล้วเขาดูธรรมดามากเลยล่ะ แต่ก็ยังมีเสน่ห์อยู่นั่นเอง" บัดด์เล่า "ปีเตอร์เป็นเด็กหน้าตาธรรมดาๆแถมยังจมูกหักซึ่งทำให้เป็นตัวละครที่วาดยากเอาเรื่อง แต่ภาพดรออิ้งของคาห์ลทำให้เขาดูสมจริงและดึงให้เราพุ่งความสนใจไปที่วิญญาณของความเป็นเด็กในตัวเขามากขึ้น การได้พบงานดรออิ้งชุดนี้จึงนับเป็นจุดสำคัญมากสำหรับเรา"

ไม่เท่านั้น ผู้กำกับศิลป์ เวนเดลล์ เลบเบ ยังสามารถหาฟิล์มพรินต์พิเศษของหนังต้นฉบับที่ผ่านการบูรณะจนมีคุณภาพเทียบเท่าครั้งออกฉายในยุค 1950 ได้ด้วย ทีมงานทำการศึกษาฟิล์มชุดนี้อย่างถี่ถ้วนโดยเฉพาะการจัดภาพและจัดแสงเพื่อให้เกิดความเข้าใจเป้าหมายที่ต้องการชัดเจนขึ้น "ในด้านการจัดแสงนั้น พวกเขากำหนดทิศทางลมและตำแหน่งของแสงที่ต้องการกันจริงๆ" บัดด์อธิบาย "จึงทำให้เราเข้าใจว่าพวกเขาใช้แสงเป็นตัวบังคับสายตาคนดูให้มองในจุดที่พวกเขาต้องการได้อย่างไรบ้าง"

"สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากและก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเราได้อย่างดีเยี่ยมก็คือ ตัวละครมีแสงส่องอยู่ภายในด้วย มันเป็นเอฟเฟ็คต์ที่ดูน่าทึ่งมากๆเมื่อฉากหลังมืด และเป็นวิธีเพิ่มความมหัศจรรย์ให้แก่ตัวปีเตอร์ แพนได้อย่างดีทีเดียว"

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการทำหนังจากปี 1953 สู่ปี 2002 นั้นบังคับให้ทีมงานต้องหาทางสร้างสมดุลให้ดีที่สุด ในขั้นแรกพวกเขาต้องตัดสินใจก่อนว่าจะไม่ใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยในการสร้างภาพเพราะจะทำลาย "คุณค่าแบบดั้งเดิม" ของตัวหนัง มุมกล้องที่ซับซ้อนขึ้นกว่ายุค 1950 เอื้อให้ทีมงาน Return to Never Land สามารถขยายขอบเขตการทำแอนิเมชั่นใหม่ๆ ด้วยการสร้างการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและดูเป็นธรรมชาติในเวลาเดียวกัน

วอลท์ ดิสนีย์แอนิเมชั่นออสเตรเลียถูกเลือกใช้เพื่อรองรับงานดังกล่าว หน่วยงานที่ร่วมงานกับวอลท์ ดิสนีย์เทเลวิชั่นแอนิเมชั่นมานานถึง 15 ปีแห่งนี้ได้ให้กำเนิดซีรี่ส์ทางโทรทัศน์และวิดีโอเรื่องดังๆมาแล้วมากมาย อาทิ The Lion King II: Simba's Pride และ The Little Mermaid II: Return to the Sea โดย Return to Never Land นับเป็นผลงานฉายโรงเรื่องแรกของสตูดิโอในออสเตรเลีย

"ผมไม่สามารถจะบรรยายถึงการช่วยเหลือของทางวอลท์ ดิสนีย์แอนิเมชั่นออสเตรเลียได้หมด" มอร์ริลล์กล่าว "งานแต่ละชิ้นยิ่งทำให้ทางออสเตรเลียยกระดับทางศิลปะของตนเองสูงขึ้นๆ โดยเฉพาะกับ Return to Never Land เรื่องนี้ยิ่งขึ้นไปถึงจุดเยี่ยมยอดเลยทีเดียว"

เป็นเรื่องน่าขันไม่น้อยที่หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญแห่งความอัศจรรย์ของเรื่องราวคือ ผงภูตวิเศษของทิงเกอร์ เบลล์ กลับเป็นปัญหาหลักของการสร้างภาพด้วยเทคโนโลยี CG เพราะแม้ทีมงานจะพบว่าคอมพิวเตอร์สามารถสร้างผงนี้ให้ดูเปล่งประกายน่าเชื่อถือ แต่ภาพที่ได้ก็มีขอบคมเกินไป ขณะที่การใช้วิธีวาดสองมิติซึ่งให้ผลที่ดูเป็นธรรมชาติกว่าก็กินเวลาในการทำงานอย่างมาก พวกเขาจึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการใช้ทั้งสองวิธีผนวกกันในที่สุด

(ยังมีต่อ)

-อน-