(ต่อ2) RETURN TO NEVER LAND ปีเตอร์ แพน ผจญภัยท่องแดนมหัศจรรย์ กำหนดฉาย 22 มีนาคม 2545

06 Mar 2002

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--โคลัมเบีย ไทรสตาร์ บัวนาวิสต้า

"ตลกดีที่เราค้นคว้ากันอยู่ตั้งนาน แถมยังใช้เงินไปตั้งเยอะเพียงเพื่อจะพบว่า ผงภูตวิเศษเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก" บัดด์เล่า "ตอนแรกเราลองใช้ CG ก่อน แต่ภาพผงที่ได้ดูเหมือนไม่มีน้ำหนักเลย เพราะภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์นั้นมักจะดูลอยๆ เราจึงหันกลับมาหาวิธีวาดด้วยมือซึ่งดูดีแต่ก็ต้องทุ่มเทกำลังอย่างมาก"

"ผงที่ว่านี่ก็เหมือนฟองอากาศนั่นแหละคือเราไม่สามารถลอกเลียนมันได้" ผอ.มิเชลล์ แพ็ปพาลาร์โด-โรบินสัน บอกบ้าง "ในที่สุดทางออสเตรเลียก็ค้นพบทางออก โดย เอียน ฮาร์โรเวลล์ (ผู้กำกับเฉพาะด้าน - unit director) สามารถผสมผสานโลกของ CG และการวาดด้วยหมึกกับสีเข้าด้วยกันได้ในที่สุด"

ในการที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ ทีมงานค้นพบหนทางใหม่ในการทำเส้นสายแบบฝีแปรงเข้าไปในเทคโนโลยีสร้างภาพ 3 มิติ เพื่อให้เกิดความรู้สึกของฉากหลังที่วาดด้วยมือขึ้นในภาพที่ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์

"เป้าหมายของเรากคือการรักษารูปลักษณ์ดั้งเดิมเอาไว้ เราจึงต้องพยายามกำจัดส่วนเกินที่เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ออกไป" บัดด์กล่าว "แต่ในอีกแง่หนึ่ง การมี CGI ก็ถือเป็นเรื่องวิเศษมาก เราสร้าง จอลลี่ โรเจอร์ แบบ 3 มิติ เพราะบทหนังกำหนดให้มีเรือบินกลางอากาศซึ่งเราไม่มีทางทำด้วยวิธีอื่นใดได้นอกจาก CG ความท้าทายจึงอยู่ตรงที่ต้องทำให้เรือ CG ไม่ดูเหมือนพลาสติคที่ลอยอยู่บนฉากหลังซึ่งวาดด้วยมือ"

บัดด์กับเลบเบต้องถกเถียงกันจนเหนื่อยอีกครั้งเรื่องฉากเดินทางสู่แดนมหัศจรรย์ของเจน ในหนังต้นฉบับนั้น ปีเตอร์ แพนเป็นผู้พาแขกของเขาบินหายไปในหมู่เมฆของลอนดอนและปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งเหนือดินแดนแห่งความเชื่อ แต่ใน Return to Never Land ทีมงานเลือกจะพาผู้ชมเดินทางผ่านบรรยากาศสดใสเจิดจ้าซึ่งชวนให้ย้อนคิดถึงฉากเปิดของรายการ The Wonderful World of Disney ทางโทรทัศน์

"ครั้งนี้จะไม่เหมือนหนังต้นฉบับเพราะผมคิดว่าเราสามารถสร้างฉากการเดินทางนั้นได้" บัดด์เล่า "เวนเดลล์เป็นผู้รับผิดชอบงานทำเอฟเฟ็คต์แบบคาไลโดสโคป เพราะเขาคิดว่าการเดินทางที่ว่านั้นย่อมไม่สามารถเป็นจริงทางกายภาพได้ เราควรจะทำให้ดูเหมือนเป็นการเดินทางผ่านจินตนาการมากกว่า"

เอฟเฟ็คต์ดังกล่าวจะเป็นภาพ จอลลี่ โรเจอร์ ลอยละล่องผ่านภาพกราฟฟิคที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงหนังต้นฉบับโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของโจรสลัด, อินเดียน, นางเงือก และอื่นๆ

"ฉากนี้ไม่ได้เน้นไปที่การเล่าเรื่องอะไรนักเพราะเป็นแค่การเล่นสนุกกับภาพมากกว่า ซึ่งผมคิดว่านั่นก็เป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณแท้ๆของปีเตอร์ แพนเหมือนกันเพราะคนดูควรจะรู้สึกสนุกอย่างเต็มที่" บัดด์กล่าว "ภาพที่ปรากฏจะให้บรรยากาศแบบยุค 50 เพราะเราพยายามรักษารูปแบบของ แมรี่ แบลร์ สไตลิสต์ด้านสีระดับตำนานของดิสนีย์เอาไว้ เราศึกษาภาพของเธอเป็นแรงบันดาลใจและก็พยายามทำเทคนิคคาไลโดสโคปเพื่อเป็นการอุทิศให้เธอ"ดนตรี

เมื่อมีภาพก็ย่อมต้องมีเสียง คอมโพสเซอร์ โจเอล แม็คนีลี่ มารับหน้าที่ดูแลดนตรีประกอบโดยจะต้องแสดงความคารวะต่อหนังต้นฉบับ ขณะที่ก็ต้องสร้างเอกลักษณ์ทางดนตรีให้แก่ Return to Never Land เองด้วย

"หนังเรื่องนี้ต้องการดนตรีที่ไร้กาลเวลาและเน้นการสร้างอารมณ์ทั้งในด้านสนุกสนาน ตลกขบขันและแอ๊คชั่น" แม็ตต์ วอลเกอร์ รองประธานอาวุโสด้านดนตรีของวอลท์ ดิสนีย์เทเลวิเชั่นแอนิเมชั่นกล่าว "มันคือฝันที่เป็นจริงของคอมโพสเซอร์ ผมเคยร่วมงานกับโจเอล แม็คนีลี่เมื่อนานมาแล้วใน Iron Will ซึ่งสไตล์ออร์เคสตร้าอันเหนือชั้นของเขาทำให้ผมถึงกับทึ่ง ผมจึงคิดว่าเขาเป็นตัวเลือกที่เหมาะเหม็งจริงๆสำหรับงานชิ้นนี้"

แม็คนีลี่เริ่มกระบวนการทำงานด้วยการดูหนังฉบับตัดต่อคร่าวๆร่วมกับผู้กำกับ, ทีมผู้อำนวยการสร้าง และผู้บริหารของแผนกแอนิเมชั่นโทรทัศน์ จากนั้นทั้งหมดก็ร่วมกันหารือถึงรายละเอียดเกี่ยวกับดนตรี ตั้งแต่เรื่องสไตล์, การสื่ออารมณ์ที่ต้องการ และธีมที่จำเป็นของหนัง จากนั้นแม็คนีลี่ก็ลงมือเขียนเพลงโดยใช้เวลาทุกวัน วันละ 12 ชั่วโมง จนกระทั่งอีก 8 สัปดาห์ต่อมา เขาก็ได้ดนตรีประกอบทรงพลังและดื่มด่ำของ Return to Never Land ซึ่งได้รับการนำไปบันทึกเสียงด้วยวงออสเคสตร้า 90 ชิ้นในแอ๊บบี้ย์โร้ดสตูดิโอส์อันโด่งดังในลอนดอน

"สิ่งที่ผมชอบมากในดนตรีประกอบของโจเอลก็คือ เขารักษาอารมณ์ของหนังต้นฉบับไว้ได้อย่างดีเยี่ยมจริงๆ เขาจับจิตวิญญาณของมันออกมาได้ ขณะที่ตัวดนตรีเองก็มีความสดใหม่ เว้นก็แต่องค์ประกอบ 2-3 อย่างที่เราอยากดึงจากหนังภาคแรกมาใช้" บัดด์เล่า "เขาสามารถจับความรู้สึกของเจนออกมาถ่ายทอดผ่านดนตรีประกอบได้อย่างสมบูรณ์แบบ โจเอลเขียนดนตรีท่อนเล็กๆที่สามารถนำไปใช้สื่ออารมณ์ของเจนได้หลากหลายและครบถ้วน ผมประทับใจในผลงานของเขาครั้งนี้จริงๆ"

แม็คนีลี่สร้างธีมดนตรีประจำตัวให้แก่ตัวละครทุกตัว โดยทั้งรักษาและเพิ่มเติมจากดนตรีที่มีอยู่ในหนังภาคแรก อาทิ ปีเตอร์ แพนกับทิงเกอร์ เบลล์ยังคงใช้ดนตรีประจำตัวเพลงเดิม อย่างไรก็ตาม แม็คนีลี่ได้สร้างธีมหลากหลายที่แตกออกมาจากธีมหลักทั้งที่เขียนไว้สำหรับฉากบิน และธีมบ้านที่เขียนไว้ใช้ในฉากเงียบสงบกว่า

"โจเอลเข้าใจแก่นแท้ของหนังเป็นอย่างดีเยี่ยม" มอร์ริลล์กล่าว "เพลงของเขาที่เราเรียกว่า 'ธีมบ้าน' และ 'ธีมบิน' นั้นตรงโจทย์พอดิบพอดี ธีมบ้านเข้าถึงหัวใจ ขณะที่ธีมบินก็เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ของจินตนาการ เขาทำให้หนังดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้มีฉากเล็กๆที่สร้างความรู้สึกใกล้ชิด เรียกว่าเขาสร้างความอัศจรรย์ได้อย่างลงตัว"

ดนตรีของตัวละครปลาหมึกจะผสมผสานทั้งเพลง, มุขตลก และลีลาสุดเว่อ ขณะที่ตัวกัปตันฮุคก็จะมีดนตรีแนวสยองขวัญปนขำขัน โดยใช้แตรเป็นเครื่องช่วยสร้างเอฟเฟ็คต์เพิ่มเติม

แม็คนีลี่ทำงานทั้งหมดนี้โดยได้แรงบันดาลใจสำคัญจากธีมแอ็คชั่นในดนตรีประกอบหนังแนวผจญภัยต่อสู้ของ เอริค วูลฟ์กัง คอร์นโกลด์ คอสโพสเซอร์ชื่อดัง "แนวทางหลักๆเน้นไปที่สไตล์ของออเคสคร้า และรายละเอียดในตัวสกอร์" แม็คนีลี่อธิบาย "สกอร์ฝีมือคอมโพสเซอร์เก่งๆในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมานั้น เป็นผลงานที่แสดงถึงการผ่านการฝึกปรือตามแนวทางคลาสสิคมาอย่างดี แต่ละบทเพลงจึงมีรายละเอียดขององค์ประกอบสูงมาก และใช้ประโยชน์จากเทคนิคของดนตรีคลาสสิคในยุโรปตะวันตกอย่างเต็มที่"

แม็คนีลี่ลงมือแต่งดนตรีให้กับซีเควนซ์เปิดเรื่องซึ่งเป็นภาพทิงเกอร์ เบลล์โบยบินอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆ เห็นเงาร่างอันเป็นสัญลักษณ์ของเธอจากหนังภาคแรกอยู่กลางปุยเมฆขาว แม็คนีลี่เขียนเพลงเปิดที่มีลักษณะคล้ายกับเพลงในหนังต้นฉบับเพื่อใช้แทนแต่ละภาพ ไม่ว่าจะเป็นเมโลดี้จาก "Following the Leader" ไปจนถึงดนตรีแทนเหล่าลอสต์บอย หรือ "Never Smile at a Crocodile" สำหรับภาพจระเข้จอมป่วน ซึ่งนี่เป็นซีเควนซ์เดียวในเรื่องที่ดนตรีประกอบแต่งเสร็จสิ้นก่อนงานแอนิเมชั่น

"ตอนนั้นงานยังอยู่แค่ในขั้นสตอรี่บอร์ด แต่พวกเขาก็รู้แล้วว่าอยากได้อะไร พวกเขาจึงอธิบายภาพและองค์ประกอบต่างๆแล้วถามว่าผมจะแต่งดนตรีเลยได้หรือเปล่า" แม็คนีลี่เล่า "ผมเองก็มองไม่เห็นภาพหรอกจนกระทั่งแต่งเสร็จ ซึ่งพอเห็นก็เล่นเอาผมตะลึงไปเลย"

"โจเอลเก่งกาจมากในการช่วยสร้างอารมณ์บนจอ" วอลเกอร์กล่าว "ดนตรีของเขาช่วยให้เราสามารถเข้าถึงวิญญาณแห่งความเป็นเด็กในตัวเราซึ่งนำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับปีเตอร์ แพน และดินแดนแดนมหัศจรรย์ได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันนี้"

ในฐานะของพ่อที่มีลูกสองคน แม็คนีลี่ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสมาแต่งดนตรีประกอบให้แก่หนังสำหรับครอบครัวอย่างนี้ "ผมใช้เวลาช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไปกับการทำหนังแอ็คชั่นผจญภัยและก็เบื่อมากๆแล้วกับการต้องคอยไล่ลูกๆออกจากห้องเวลาผมกำลังทำงาน" แม็คนีลี่กล่าว "ผมจึงตื่นเต้นมากที่งานชิ้นนี้ทำเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ และผมเองก็อยากจะทำอะไรด้วยหัวใจดีๆมานานแล้ว เพราะมันสมองของผมก็อยู่ตรงหัวใจนั่นแหละ"

การฝึกปรือด้านดนตรีของแม็คนีลี่นั้นเกี่ยวโยงกับแหล่งที่มาหลากหลาย เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีแจ๊ซซ์ที่เน้นหนักไปที่เครื่องดนตรีแซ็กโซโฟน ก่อนจะหันเหไปสนใจการแต่งเพลงและเข้าเรียนที่ Eastman School of Music อันโด่งดัง ส่วน มาร์กาเร็ต บัตเจอร์ ภรรยาของเขาก็เป็นนักไวโอลินหัวหน้าวงลอสแอนเจลิสแชมเบอร์ออร์เคสตร้า และเป็นนักไวโอลินโซโล่ที่โด่งดังในระดับนานาชาติ

แม็คนีลี่เคยแต่งดนตรีประกอบให้แก่หนังและซีรี่ส์ทางโทรทัศน์มาแล้วกว่า 35 เรื่อง เช่น Soldier, Vegas Vacation, ซีรี่ส์ Dark Angel ของ จิม แคเมอร่อน และการ์ตูนชุด Tiny Toon Adventures นอกจากนั้นยังมีอัลบั้มดนตรีประกอบหนังอีกกว่า 30 ชุด รวมถึงคอลเล็คชั่นโดย แบร์นาร์ด แฮร์มานน์ คอมโพสเซอร์ชื่อดังประจำหนังฮิตช์ค็อค เช่น ดนตรีประกอบของ Vertigo ที่ทำให้เขาได้รับรางวัล Gramophone Award ด้วยเรื่องของเพลง

แผนกดนตรีของวอลท์ ดิสนีย์เทเลวิชั่นแอนิเมชั่นพยายามสรรหาทีมที่มีความสามารถหลากหลาย เพื่อมาร่วมเขียนและบันทึกเสียงเพลงให้กับ Return to Never Land

โจนาธาน บรู๊คเป็นผู้สร้างชีวิตให้แก่เพลง "Second Star to the Right" ในฉากเปิดเรื่อง ตามด้วยการถ่ายทอดภาวะความรู้สึกของเจนด้วยผลงานดั้งเดิมของเธอคือ "I'll Try" โดยทีมงานนัดพบบรู๊คเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับฉากและดนตรีที่หนังต้องการ แล้ววันรุ่งขึ้นบรู๊คก็กลับมาพร้อมผลงานซึ่งเข้ากับหนังได้ดีมาก

"เสียงของโจนาธานน่าทึ่งจริงๆ และเธอก็จับจุดเด่นในน้ำเสียงของเจนได้อย่างแม่นยำ" บัดด์กล่าว "เสียงนั้นทำให้เรารู้สึกได้ทันทีว่า เจนอยากจะเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่เธอก็ทำไม่ได้ ใจหนึ่งเธออาจจะรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องโตเป็นผู้ใหญ่และอยู่กับความจริง ขณะที่อีกใจก็อดคิดไม่ได้ว่าหากเธอได้บินและเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆบ้างก็คงดีไม่น้อย เพลงนี้ช่วยหนังได้ดีมากจริงๆ"

ความที่เติบโตมากับการดูแอนิเมชั่นเรื่องดังๆของดิสนีย์ ทำให้บรู๊ครู้สึกภูมิใจในงานชิ้นนี้เป็นพิเศษ "หนังเรื่องนี้น่ารักมาก การได้เห็นมันค่อยๆก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่แสนวิเศษ" เธอกล่าว

บรู๊คเริ่มต้นเข้าสู่วงการเพลงด้วยการเป็นสมาชิกของวงโฟล์คคู่ยุค 80 ชื่อ The Story และหลังจากแยกวง เธอก็ก้าวมาเป็นศิลปินเดี่ยวอย่างเต็มตัว โดยในปี 1997 เธอก่อตั้งบริษัทอิสระของตนเองในชื่อ แบ๊ดด็อกเรคคอร์ดส์ (Bad Dog Records) และออกอัลบั้มมา 2 ชุด รวมถึงชุดล่าสุดคือ Steady Pull

นอกเหนือจากการดูแลงานของตัวเอง, เขียนเพลงและเดินสายแสดงแล้ว บรู๊คยังเขียนไดอารี่บันทึกการเดินทางของเธอลงบนเว็บไซต์ www.jonathabrooke.com ซึ่งใช้เป็นช่องทางติดต่อกับแฟนๆด้วย

They Might Be Giants มารับหน้าที่ทำดนตรีและเขียนเนื้อร้องให้กับเพลง "So To Be One Of Us/Now That You're One Of Us" ซึ่งอยู่ในซีเควนซ์ที่ร่าเริงโลดโผนที่สุดของหนัง และขับร้องโดย เบลย์น วีเวอร์ (ปีเตอร์), แฮร์เรียต โอเวน (เจน) และเหล่าเดอะลอสต์บอย

"ไอเดียของเพลงนี้ก็คือให้ภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับลอสต์บอย โดยมีเจนกระโดดโลดเต้นพยายามเข้ากลุ่มกับพวกเขาและได้เรียนรู้กระบวนการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มนี้" จอห์น แฟลนสเบิร์ก แห่งวง They Might Be Giants อธิบาย "เราพยายามใช้องค์ประกอบต่างๆที่แสดงถึงพละกำลังของเด็กผู้ชาย อย่างเช่นการเล่นโลดโผนโจนทะยานไปมาและการรวมกันเป็นแก๊ง ซึ่งนั่นล่ะคือพลังที่แท้จริงของบทเพลงนี้"

การเติบโตมาในย่านนอกเมืองแมสซาชูเส็ตส์ใกล้บอสตัน ทำให้แฟลนสเบิร์กได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจากการเที่ยวเล่นผจญภัยในป่ากับเพื่อนๆเมื่อครั้งยังเด็ก "ส่วนใหญ่ตอนเด็กๆผมมักจะเล่นห้อยโหนเถาวัลย์แล้วกระโดดรอบบ่อกบอะไรทำนองนั้น" เขาเล่า "เราพัฒนาความสัมพันธ์แบบเดียวกับลอสต์บอยก็จากสถานการณ์เหล่านั้น ความสัมพันธ์แบบที่เราอุทิศตัวเองให้แก่เพื่อนได้อย่างเต็มที่ เป็นความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นจริงๆ"

นับจากก่อตั้งวงเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว แฟลนสเบิร์กกับ จอห์น ลินเนลล์ ได้สร้างกลุ่มแฟนที่ติดตามผลงานของ They Might Be Giants อย่างจริงจังด้วยแนวทางดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ รากฐานของทั้งสองเริ่มจากการเป็นศิลปินคู่เล่นแอ็คคอร์เดี้ยนและดรัมแมชชีน และสามารถทำยอดขายทั่วโลกได้กว่า 3 ล้านแผ่น เปิดการแสดงคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลกกว่า 1,100 ครั้งและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเป็นศิลปินระดับแนวหน้าวงแรกที่ออกอัลบั้ม MP3 ทั้งชุด โดยเว็บไซต์ Emusic.com เขียนไว้ว่า They Might Be Giants ติดอันดับหนึ่งใน 10 ศิลปินที่ถูกดาวน์โหลดผลงานผ่านอินเตอร์เน็ตมากที่สุดประจำปี 2000

นอกเหนือจากการทำอัลบั้มและวิดีโอแล้ว TMBG ยังแต่งและบันทึกเพลงให้กับรายการ "This American Life" ทางสถานี National Public Radio และแสดงความสามารถทั้งทางด้านดนตรีและละครในรายการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "Brave New World" โดยผลงานที่โด่งดังที่สุดของพวกเขาก็คือเพลงธีมของซิตคอมสุดฮิตทางฟ็อกซ์ทีวีเรื่อง Malcolm in the Middle

ล่าสุด They Might Be Giants ออกอัลบั้มลำดับที่ 8 ในชื่อ Mink Car และเพิ่งเสร็จสิ้นจากการทำอัลบั้มอินเตอร์แอ็คทีฟสำหรับเด็กซึ่งมีกำหนดวางตลาดในปี 2002 นี้

ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาธีมเดิมจากหนังภาคแรกไว้ ทีมงานจึงตัดสินใจใช้เพลงฮิตปี 1965 "Do You Believe in Magic" ของ Lovin' Spoonful ใส่ในเครดิตตอนจบ โดยเลือก BBMak ศิลปินสังกัดฮอลลีวู้ดเรคคอร์ดสมาเป็นผู้ร้อง และวอลเกอร์รับหน้าที่เดินทางไปยังวู้ดสต็อคเพื่อขออนุญาตจาก จอห์น เซบาสเตียน ผู้เขียนเพลงนี้

ตอนอายุได้ 5 ขวบ เซบาสเตียนมีโอกาสไปชมละครบรอดเวย์เรื่อง Peter Pan (ยีน อาร์เธอร์รับบทแพน และบอริส คาร์ลอฟฟ์รับบทฮุค) กับป้าไม่แท้คือ วิเวียน แวนซ์ ผู้โด่งดังจาก I Love Lucy เมื่อละครจบ ทั้งคู่เข้าไปพบดาราหลังเวที และเซบาสเตียนก็ได้ลายเซ็นของคาร์ลอฟฟ์มาครอบครอง ปัจจุบันรูปพร้อมลายเซ็นนั้นยังคงอยู่ แต่สิ่งที่ตราตรึงในใจของร็อคเกอร์ระดับตำนานคนนี้อย่างเหนียวแน่นยิ่งกว่าก็คือ เรื่องราวบนเวทีนั่นเอง

"นับแต่ดูละครเรื่อง Peter Pan เป็นต้นมา ผมก็ฝันอยากบินได้มาโดยตลอด" เซบาสเตียนเล่า "จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยเลิกฝัน"

ด้วยเหตุนี้ ปีเตอร์ แพนจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของเซบาสเตียนในการแต่งเพลง "Do You Believe in Magic" แม้เนื้อเพลงจะกล่าวถึงเวทมนตร์และดนตรี แต่ธีมที่แท้จริงของมันมาจากแนวคิดเกี่ยวกับการเชื่อในบางสิ่งและทำให้มันกลายเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งก็คือความคิดที่งอกเงยมาจากความรักที่เขามีต่อปีเตอร์ แพนนั่นเอง

"แม้ผมจะเขียนเนื้อเพลงเกี่ยวกับดนตรี แต่สิ่งที่อยู่ในใจผมจริงๆตอนแต่งเพลงนี้ก็คือปีเตอร์ แพน" เซบาสเตียนเล่า "การเปรียบเปรยถึงความเชื่อในบางอย่างและทำให้มันเป็นจริงนั้น แท้จริงแล้วเป็นแนวความคิดของ เจ เอ็ม แบร์รี่ (ผู้แต่ง Peter Pan) มากกว่าจะเป็นของผม"

เซบาสเตียนลงมือขัดเกลาเนื้อเพลงบางท่อนเพื่อให้เหมาะสมกับหนังมากขึ้น "การแก้เนื้อเพลงใหม่ให้เปลี่ยนจากเรื่องดนตรีมาเป็นเรื่องบินนั้นง่ายมากเลย" เซบาสเตียนกล่าว "เพราะผมก็แค่หวนไปคิดถึงแรงบันดาลใจเริ่มแรกเท่านั้นเอง เนื้อหาจริงๆของมันพูดถึงการสร้างศรัทธาซึ่งตามเรื่องแล้วมันคือสิ่งที่จะนำไปสู่การบินได้"

ที่ยิ่งกว่านั้น เซบาสเตียนยังติดต่อทีมงานขอให้ใช้เสียงออโต้ฮาร์ปของเขาเองลงไปแทรกในตัวเพลงด้วยเพื่อให้เพลงมีชีวิตชีวาขึ้น "ผมบอกผู้อำนวยการสร้างไปแบบนี้" เซบาสเตียนเล่า "บอกว่า นักร้องคุณร้องกันดีนะ แต่หลังจากเพลงเสร็จแล้วคุณลองเอาไปเทียบกับต้นฉบับ คุณจะรู้สึกได้เลยว่ามีอะไรบางอย่างหายไป ซึ่งผมนี่แหละจะช่วยคุณประหยัดเวลาด้วยการบอกคุณเสียตรงนี้เลยว่า สิ่งที่หายไปก็คือเสียงออโต้ฮาร์ปนั่นเอง ในต้นฉบับเขาใช้มันผสมผสานกับเสียงเปียโนโดยแทรกไว้ในตัวเพลง ซึ่งการผสมระหว่างฮาร์ปไฟฟ้าและเปียโนนี้จะช่วยให้เพลงฟังดูโดดเด่นและมีชีวิตชีวาขึ้นทันที …พวกเขาฟังผมอธิบายแล้วก็ตอบตกลง"

จังหวะการทำงานลงตัวอย่างเหมาะเหม็งเมื่อทีมงานตัดสินใจใช้คีย์ D ในเพลงนี้และเซบาสเตียนเองก็เพิ่งได้รับออโต้ฮาร์ปที่ร่วมเล่นในคีย์ดังกล่าวได้พอเหมาะพอดีเช่นกัน

"ผมเพิ่งได้เครื่องดนตรีชิ้นใหม่ที่ออกแบบมาให้เล่นในคีย์ D ซึ่งจะต่างจากออโต้ฮาร์ปทั่วๆไปนิดหน่อย" เซบาสเตียนกล่าว "เครื่องดนตรีบางชิ้นก็เหมาะจะเล่นแต่ในบางคีย์เพราะข้อจำกัดด้านรูปร่างของมัน ซึ่งปกติแล้วออโต้ฮาร์ปไม่ได้ทำไว้สำหรับเล่นคีย์ D แต่บังเอิญมีคนทำออโต้ฮาร์ปมือดีคนหนึ่งทำตัวเฉพาะไว้ให้ผมเล่นสำหรับคีย์นี้ …ถ้าก่อนหน้านี้สักหนึ่งปีผมก็คงร่วมเล่นด้วยไม่ได้แล้ว จึงต้องถือว่าผมได้รับเครื่องดนตรีพิเศษชิ้นนี้มาในจังหวะเหมาะจริงๆ"

BBMak ศิลปินชื่อดังจากอังกฤษซึ่งประกอบด้วย คริสเตียน แอนโธนี่, สตีเฟน แม็คนอลลี่ และมาร์ค แบร์รี่ เป็นเจ้าของเพลงป๊อปสไตล์โดดเด่นที่ผ่านการแสดงในคลับทางนอร์ธเวสต์ของอังกฤษมาแล้วหลายแห่ง ก่อนจะตัดสินใจเซ็นสัญญาเข้าสู่การดูแลของสังกัดฮอลลีวู้ดเรคคอร์ดส์ และออกอัลบั้ม "Sooner Or Later" ในปี 2000 โดยซิงเกิลชื่อ "Back Here" ของพวกเขาติดชาร์ตในอังกฤษและขึ้นถึงอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดพวกเขากำลังอยู่ระหว่างการทำอัลบั้มชุดที่ 2

"ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมงานกับเพื่อนใหม่ๆ" พวกเขากล่าว" เพราะเราต้องการแลกเปลี่ยนกับศิลปินใหม่ๆ เพื่อให้เกิดไอเดียสดแปลกสำหรับการทำเพลงร็อคของเราอยู่เสมอ--จบ--

-อน-