ปตท./ทีโอซี ร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท

08 Feb 2002

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ปตท .

นายวิเศษ จูภิบาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ปตท.ได้ลงนามในสัญญาซื้อ - ขายก๊าซอีเทน และผลิตภัณฑ์เอทิลีน กับบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (TOC) เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดในการใช้ก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. เนื่องจากก๊าซธรรมชาติ เมื่อนำมาแยกส่วนที่เป็นก๊าซอีเทนออกมา และนำไปผลิตเป็นเอทิลีน จะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นถึง 4 เท่า และจะทำให้ ปตท. มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท คือ จากการขายก๊าซอีเทน ให้ TOC เพิ่มขึ้น ปีละ 5,000 ล้านบาท และจากการส่งออกเอทิลีน ซึ่งจะมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศอีกประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท โดย ปตท.สามารถใช้เครือข่ายการตลาดในต่างประเทศที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทิลีนที่รับซื้อจาก TOC ได้เป็นอย่างดี

นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (TOC) เปิดเผยว่า ตามสัญญาดังกล่าว TOC จะรับซื้อก๊าซอีเทน ปริมาณ 370,000 - 500,000 ตัน/ปี จาก ปตท. เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในส่วนขยายกำลังการผลิตเอทิลีนของโรงงานโอเลฟินส์ โดยจะเริ่มรับซื้อในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นปีที่การก่อสร้างส่วนขยายของโรงงานโอเลฟินส์แล้วเสร็จ และ TOC จะขายผลิตภัณฑ์เอทิลีน ที่ผลิตได้จากส่วนขยายปริมาณประมาณ 240,000 ตันต่อปี แก่ ปตท. เพื่อนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2547-2548 ผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมีคาดการณ์ว่า จะเป็นปีที่ผลิตภัณฑ์เอทิลีนในตลาดโลกเข้าสู่ช่วงภาวะขาขึ้น โดยตลาดโลกจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังการผลิต และคาดว่าราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เอทิลีนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงกว่า 500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จึงเป็นการเสริมการทำตลาดส่งออก และเป็นการขยายฐานธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท. ไปด้วย

บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด ดำเนินการผลิตโอเลฟินส์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตหลักประกอบด้วย เอทิลีน จำนวน 385,000 ตันต่อปี และ โพรพิลีน จำนวน 190,000 ตันต่อปี โดยมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 63.03% และคณะกรรมการ ปตท.เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2545 ได้มีมติอนุมัติเงื่อนไขการกู้เงินเพิ่ม เพื่อขยายกำลังการผลิตเอทิลีน ของ TOC อีกปีละ 300,000 ตัน เป็นกำลังผลิต 700,000 ตันต่อปีให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและลดต้นทุนให้เทียบเท่าสากล พร้อมรับการแข่งขันทั้งระดับภูมิภาคและตลาดโลกในอนาคต โดยผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ มีความสำคัญในการใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกหลายชนิด เพื่อการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน อาทิ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น--จบ--

-สส-