สมาคมข้าราชการบำนาญกทม.ระดมสมองร่วมพัฒนากทม.

08 Feb 2002

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--กทม.

เมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 45) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสมาคมข้าราชการบำนาญกรุงเทพมหานคร นายสมควร รวิรัฐ นายกสมาคมข้าราชการบำนาญกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสมาคมข้าราชการบำนาญกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 ประจำปี 2545 โดยมี นายโยธิน ทองคำ อุปนายกสมาคม นายวีระ ถนอมศักดิ์ อุปนายกสมาคมและประธานประชา-สัมพันธ์ นางสุณีย์ ชุนปรีชา เหรัญญิก และนายสมบูรณ์ อานิกวงศ์ชัย เลขานุการสมาคม ร่วมประชุม

นายวีระ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเสนอความคิดเห็นในเรื่องโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานครที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน และแผนพัฒนาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร สำหรับรูปแบบโครงสร้างการบริหารราชการกทม. ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบกับคณะกรรมการสมาคมฯเป็นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ เคยดำรงตำแหน่งสูงในกทม.มาก่อน และเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาของกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง จึงควรจะมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นต่อคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครตามวัตถุประสงค์ของสมาคมที่มุ่งเน้นการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ สนับสนุนการบริหารราชการกรุงเทพมหานครตามความจำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนเป็นคลังสมองในการระดมความคิดในการพัฒนากรุงเทพมหานครโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง นอกจากนี้ ทางสมาคมยังมีกลุ่มบุคคลที่เป็นแหล่งข้อมูล สามารถให้หรือเสนอแนวคิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อเรื่องดังกล่าวในแนวทางที่เหมาะสมและมีความเป็นกลาง เพื่อที่คณะผู้บริหารกทม.จะได้มีข้อมูลหลากหลาย ในการประกอบการพิจารณา เนื่องจากสมาคมฯ ไม่ได้คิดมุ่งผลประโยชน์จากกลุ่มบุคคลหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยสมาคมฯจะจัดทำ แบบสอบถามความคิดเห็นสมาชิกสมาคมกลุ่มข้าราชการบำนาญกทม. ต่อความคิดเห็นในเรื่องของการบริหารราชการกรุงเทพ- มหานคร และจะนำข้อมูลจากสมาชิกมาระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง ก่อนนำเรื่องเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมต่อไป

ส่วนแผนพัฒนาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร นั้น สมาคมฯพิจารณาเห็นชอบในหลักการว่า ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น กรุงเทพมหานครจึงต้องเพิ่มความเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการ ความมั่นคงของ รายได้การทำงาน ด้านสังคม วัฒนธรรม รวมถึงด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาของผู้สูงอายุ และให้โอกาสแก่ผู้สูงอายุได้มีบทบาทในกิจกรรมต่างๆ ในสังคม และประเทศชาติ ตลอดจนให้ผู้สูงอายุภาคภูมิใจว่าเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ได้รับการตอบแทนจากสังคมและประเทศชาติตามสมควร--จบ--

-นห-