กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--ไทยเอ็นจีโอ
แจ้งข่าวพิธีทำบุญครบร้อยวัน ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ปรึกษาคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เวลา 13.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม 2544 สิริรวมอายุ 76 ปี จะมีพิธีทำบุญครบ 100 วัน ณ ศาลา 100 ปี วัดเบญจฯ ภาคเช้า 9.00 น. สวดพระอภิธรรม และเลี้ยงพระเพล วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 กำหนดงานพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 13 พฤษภาคม 2545 เวลา 17.00 น. ณ วัดเทพศิรินทราวาส ประวัติโดยย่อ
- ศ.นิคม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2468 ที่ จ.แพร่ จบธรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2490 และชิงทุนไปศึกษาต่อในสหรัฐจนสำเร็จปริญญาโท 2 สาขา คือการบริหารสังคมจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ปี 2496 และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์แรงงานจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล ปี 2497
- ปี 2498 เข้าทำงานที่กรมประชาสงเคราะห์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่วิจัยและเลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกวิจัยใน 2 ปีต่อมา และเป็นเลขาธิการศูนย์พัฒนาและบริการชุมชนอีกตำแหน่งหนึ่ง อ.นิคม เป็นผู้ริเริ่มจัดการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติเป็นครั้งแรกในปี 2503 เป็นผู้บุกเบิกงานสังคมสงเคราะห์ และงานอาสาสมัครทั้งภาครัฐ และ เอกชน ในประเทศไทย ท่านมีส่วนสำคัญในการผลักดันการก่อตั้งและวางรากฐานให้กับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
- ในด้านแรงงานได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการแผนกแรงงาน ต่อมาเลื่อนขึ้นเป็นกรมแรงงาน ซึ่งต่อมาได้เป็นรองอธิบดี และเป็นอธิบดีกรมแรงงานในปี 2516 ท่านได้ผลักดันกฎหมายประกันสังคม ในยุคหลัง 14 ตุลา และแก้ไขกฎหมายแรงงานหลายฉบับให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน ท่านได้เขียนหนังสือ และตำรับตำราด้านปัญหาแรงงานเป็นจำนวนมาก
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อปี 2513 และต่อมาท่านได้รับปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในปี 2525
- หลังจากเกษียณอายุ ปี 2527 ท่านได้อุทิศเวลาให้กับการสอนหนังสือ และเป็นที่ปรึกษาในกิจการของรัฐด้านแรงงาน เป็นวุฒิสมาชิก และกรรมาธิการสวัสดิการสังคมของวุฒิสภา ได้รับโปรดเกล้าเป็นราชบัณฑิตในปี 2537 ท่านเป็นประธานคนแรกของมูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน ซึ่งดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือและผลักดันการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน ศ.นิคมยังเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายประกันสังคม โดยให้คุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป รวมทั้งสนับสนุนการตั้งสหภาพแรงงาน และคัดค้านการนำรัฐวิสาหกิจออกนอกระบบอีกด้วย
- งานสุดท้ายของท่าน คือ ผลักดันการจัดสร้างอนุสาวรีย์14 ตุลา ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งมีพิธีสมโภชสถูปดวงวิญญาณวีรชนประชาธิปไตย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2544 ในฐานะประธานมูลนิธิ 14 ตุลา และ เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 - ติดต่อสอบถาม Email: [email protected] 01-613-4792 โทรสาร 02-622-1016--จบ--
-สส-