กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีภารกิจในงานด้านการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางที่ทำหน้าที่รักษาหลักทรัพย์จดทะเบียนของผู้ถือหุ้นโดยทั่วไปที่อยู่ในระบบกรรมสิทธิแบบไร้ใบหุ้น ได้สรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบของตลาดทุนไทย และมีผลสรุปว่า ระบบฯพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตลาดทุนของโลก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเร่งระยะเวลาชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ให้เร็วขึ้นกว่าระบบเป็นอยู่คือระบบ "3 วันทำการ ภายหลังจากวันทำรายการซื้อขาย" หรือที่มักรู้จักในคำว่า T+3 โดยในบางประเทศเช่นสหรัฐ เคยประกาศว่าจะพยายามไปให้เร็วถึงขั้น ชำระราคาฯ ในวันทำการถัดไป หรือ T+1
ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทั้งระบบ และว่าจ้าง บริษัท เดอะแคบปิตอลมาเก็ตส์ จำกัด (The Capital Markets Company Limited หรือ Capco) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิธีการดำเนินธุรกิจตลาดทุนระดับโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ และมีสำนักงานในเมืองที่เป็นที่ตั้งตลาดทุนสำคัญๆ ของโลกอีก 10 ประเทศ เพื่อศึกษาโครงสร้างของระบบการรับส่งคำสั่งซื้อขาย และระบบการชำระราคาของตลาดทุนของไทย ซึ่งได้ข้อสรุปว่าระบบงานที่ปฏิบัติอยู่ มีประสิทธิภาพทัดเทียมตลาดทุนอื่นๆ ของโลก และมีความพร้อมหากต้องการดำเนินการปรับระบบงานเพื่อเร่งการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะเป็นความเปลี่ยนแปลงไปตามการตัดสินใจของตลาดทุนยักษ์ใหญ่ของโลก
นานงราม ชี้แจงว่า "จากระบบงานที่มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้วในแต่ละขั้นตอน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การส่งคำสั่งซื้อขาย โดยสถาบันการลงทุน หรือโดยผู้ลงทุนรายบุคคล ไปยังบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ และคำสั่งฯ ถูกส่งเข้าไปในระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ จนเกิดการซื้อขาย ที่สามารถยืนยันผลการซื้อขายกลับไปยังผู้ลงทุน และธนาคารที่ทำหน้าที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งมีความมีประสิทธิภาพอย่างดีตามกรอบเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ทั่วไปในขณะนี้ทำให้ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใดหากแรงกดดันจากตลาดโลกทำให้เรามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนกำหนดชำระราคาฯ เป็น T+2 หรือแม้แต่ T+1 โดยการนำเอาเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงของระบบงานต่างๆ ตั้งแต่การเตรียมการส่งคำสั่งซื้อขาย จนถึงขั้นสุดท้ายของการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า "ระบบงานต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ" (Straight Through Processing - STP) การศึกษานี้ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน และสรุปผลการศึกษาให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ในวันที่ 29 เมษายน ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ซึ่งถือได้ว่าเรามีความเข้าใจ และมีความพร้อมทัดเทียมกับตลาดทุนสำคัญๆ ของโลกแล้ว ถือได้ว่าเราก้าวไปรอตลาดทุนเกิดใหม่หลายตลาดฯ ซึ่งหลายแห่งยังไม่ได้เริ่มทำการศึกษาในเรื่องนี้แต่อย่างใด"
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า "เราตระหนักดีว่าตลาดทุนของไทยถือว่าเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะไม่ดำเนินการในเรื่องของการเร่งระบบชำระราคาฯ ไปก่อนตลาดใหญ่ๆ ของโลก การดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ระบบงานที่ทำมาถึงขั้นนี้ได้สร้างความเข้าใจ และความมั่นใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวงการตลาดทุนแล้วว่า ตลาดทุนของไทยมีความพร้อมทั้งศักยภาพของระบบที่เป็นอยู่ และเงินทุนในการพัฒนาระบบ ซึ่งแม้ว่าอาจจะมีขนาดใหญ่ถึงประมาณ หนึ่งพันล้านบาท แต่ก็ถือได้ว่ามีขนาดที่ไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับทรัพยากรทางการเงินที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีอยู่รวมกันกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท"
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229-2036/ กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229-2037/ จิวัสสา ติปยานนท์ โทร. 0-2229-2039--จบ--
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit