เกษตรกร ปลื้มระบบก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ สนใจขอสนับสนุนแล้วกว่า 1,600 ราย

03 May 2002

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สพช.

เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ พอใจระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก ขอรับการสนับสนุนแล้วจำนวน 1,619 ราย จ.เชียงใหม่ ขอรับสนับสนุนมากสุด 162 ราย

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) กล่าวว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุนสร้างบ่อก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก ให้กับเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ โดยผ่านทางกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อก่อสร้างระบบก๊าซชีวภาพขนาดระหว่าง 12-100 ลูกบาศก์เมตร ราคาประมาณ 27,000-160,000 บาท โดยกองทุนฯ ได้อุดหนุนค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 45 ของราคาค่าก่อสร้าง ส่วนอีกร้อยละ 55 เป็นส่วนที่เกษตรกรเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

โครงการก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก ได้เริ่มให้การสนับสนุนตั้งแต่ปี 2539 แบ่งเป็นการดำเนินงาน 2 ระยะ ระยะแรก ปี 2539-2541 สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างบ่อก๊าซชีวภาพขนาดเล็กได้จำนวน 6,070 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 284 บ่อ และในการดำเนินงานระยะที่ 2 ระหว่างปี 2541-2546 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1,385 บ่อ

"จากการดำเนินที่ผ่านมา มีเกษตรกรทั่วประเทศ ติดต่อขอรับการสนับสนุนรวม1,619 ราย ก่อสร้างเสร็จสิ้น จำนวน 1,117 ราย คิดเป็น 43,128 ลูกบาศก์เมตร และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำมาทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ 3.6 ล้านกิโลกรัม/ปี หรือคิดเป็น 240,000 ถัง คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 49 ล้านบาท/ปี (คิดราคาก๊าซ LPG เฉลี่ยที่ 13.61 บาท/กิโลกรัม) นอกจากนี้ยังพบว่ามีเกษตรกรติดต่อขอรับการสนับสนุนทุกภูมิภาครวม 53 จังหวัด โดยมีจังหวัดที่ขอรับการสนับสนุนมากที่สุดคือเชียงใหม่ 162 ราย รองลงมาคือเชียงราย 66 ราย ราชบุรี 48 ราย" นายวีระพล กล่าว

การสร้างบ่อก๊าซชีวภาพ ได้แก้ไขปัญหาทางด้านมลพิษที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมทั้งภายในฟาร์มและชุมชนใกล้เคียงในเรื่องของกลิ่น แมลงวัน น้ำเสีย โรคภัยต่างๆ ที่เกิดจากมูลสัตว์และของเสียต่างๆ ที่มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาการสร้างบ่อก๊าซชีวภาพจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วยังได้ก๊าซชีวภาพมาทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ใช้ในครัวเรือนด้วย

สำหรับระบบก๊าซชีวภาพที่นำมาส่งเสริมให้กับเกษตรกรรายย่อยนี้ เป็นแบบโดมคงที่ฝังอยู่ใต้ดิน (Fixed Dome) ระบบขนาดเล็ก จะมีขนาดมาตราฐานที่ใช้ในการส่งเสริม 5 ขนาด คือ 12 16 30 50 และ100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งในระบบจะประกอบด้วย 1. บ่อเติมมูลสัตว์ (Mixing Chamber) 2.บ่อหมัก (Digester Chamber) และ 3. บ่อล้น (Expansion Chamber) การทำงานจะเป็นระบบไดนามิก คือ เมื่อก๊าซเกิดขึ้นภายในบ่อหมัก ก๊าซจะมีแรงผลักดันมูลสัตว์และน้ำที่อยู่ส่วนล่างของบ่อหมักให้ทะลักขึ้นไปเก็บไว้ในบ่อล้น เมื่อมีการเปิดก๊าซไปใช้ น้ำในบ่อล้นก็จะไหลย้อนกลับเข้าในบ่อหมักเพื่อผลักดันก๊าซให้มีความดันเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งระบบจะเกิดเช่นนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

หากเกษตรกรท่านใดที่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ เกษตรตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือ สถาบันพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือ โทร.

0-2579-3664

ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2

121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

โทร. 0-2612-1555 ต่อ 201-5--จบ--

-อน-