ไทยพาณิชย์ ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินสำหรับงวดไตรมาส 3 ของปี 2544 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระ

25 Oct 2001

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์

สรุปผลประกอบการที่สำคัญในงวดไตรมาส 3 ของปี 2544 ก่อนการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีอิสระธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งผลประกอบการเบื้องต้นก่อนการสอบทานสำหรับงวดไตรมาส 3 ของปี 2544 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 503 ล้านบาทเทียบกับกำไรสุทธิ 754 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2543 สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2544 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,607 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 2,787 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสนี้ ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,670 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งสำรองเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเสื่อมคุณภาพของลูกหนี้ที่ยังคงจำเป็นต้องระมัดระวังอยู่

หากพิจารณาผลกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว ในไตรมาส 3 นี้ ธนาคารมีกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2,173 ล้านบาท เทียบกับ 1,725 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2543 กำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับงวด 9 เดือน เท่ากับ 6,813 ล้านบาทเทียบกับงวด 9 เดือนของปีก่อนจำนวน 8,216 ล้านบาท

รายการที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

1. รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจากดอกเบี้ยจ่าย ก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2544 จำนวน 3,905 ล้านบาท และ 11,943 ล้านบาทตามลำดับ เทียบกับ 3,690 ล้านบาท และ 11,018 ล้านบาทในแต่ละงวดเดียวกันของปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยรับและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้นเนื่องส่วนต่างดอกเบี้ยดีขึ้นเล็กน้อยจากการบริหารต้นทุนอย่างระมัดระวัง

2. รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งประกอบด้วยค่าธรรมเนียมต่างๆ กำไรจากการปริวรรต และรายได้อื่นจำนวน 1,666 ล้านบาท (งวดเดียวกันของปี 2543 จำนวน 1,369 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจำนวน 297 ล้านบาท โดยเป็นผลจากกำไรจากการปริวรรตเพิ่มขึ้นจำนวน 346 ล้านบาท ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาสนี้ลดลงเล็กน้อยจำนวน 49 ล้านบาทจากปีก่อน

ในไตรมาสนี้ ธนาคารมีขาดทุนจากเงินลงทุน 298 ล้านบาท เทียบกับกำไรในงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 299 ล้านบาท เนื่องจากในงวดนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าสำหรับเงินลงทุนทั่วไปจำนวน 410 ล้านบาท นอกจากนี้ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจาก 48 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2543 เป็น 81 ล้านบาทในปีน

3. ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ของปีนี้จำนวน 3,180 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 502 ล้านบาท เนื่องจากในปีก่อนธนาคารมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตั้งสำรองเผื่อการลดค่าของสินทรัพย์รอการขายจำนวน 570 ล้านบาท

4. ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ

ธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาส 3 ของปี 2544 จำนวน 1,670 ล้านบาท หรือเท่ากับ 5,206 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือน ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความระมัดระวังในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังควรต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง ทำให้สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ 30 กันยายน 2544 มีจำนวนทั้งสิ้น 22,543 ล้านบาท

งบดุล ณ วันที่ 30 กันยายน 2544

ธนาคารมีสินเชื่อก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 467,750 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2543 จำนวน 18,101 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.7 และมีดอกเบี้ยค้างรับจำนวน 2,468 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากสิ้นปี 2543 จำนวน 387 ล้านบาท

ธนาคารมียอดเงินฝาก 602,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2543 จำนวน 9,891 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7

ธนาคารมีส่วนของผู้ถือหุ้น 61,730 ล้านบาทคิดเป็นมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่ากับ 19.71 บาท(31 ธันวาคม 2543 : 19.22 บาท) มีเงินกองทุนตามกฎหมาย (ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2) รวม 79,647 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 16.1 ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ประมาณร้อยละ 9.7 ของสินทรัพย์เสี่ยง

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)

ธนาคารมียอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งรวมรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน ณ สิ้นกันยายน 2544 จำนวน 105,605 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 ของสินเชื่อรวมซึ่งใกล้เคียงกับเมื่อสิ้นไตรมาสที่แล้ว แต่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 94,261 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.3 ณ สิ้นปี 2543 เนื่องจากยังคงมี NPLs ใหม่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ (Re-entry NPLs) และหนี้มีปัญหารายใหม่

การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ธนาคารได้ลงนามในสัญญากับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เพื่อโอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่เข้าข่ายให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่เข้าข่ายโอนได้มีจำนวนประมาณ 9,638 ล้านบาทในราคาตามบัญชี โดยคาดว่าจะมีการโอนขายในช่วงปลายเดือนตุลาคม จำนวน 4,764 ล้านบาทและเดือนพฤศจิกายนจำนวน 3,164 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ของธนาคารลดลงในจำนวนเดียวกัน--จบ--

-สส-