ทีเอร่วมสมาคมวิทย์ปั้นนักคิดรุ่นเยาว์....ผลิตนักวิทย์ฯน้อยกว่า ๑,๐๐๐ โครงงาน

11 Sep 2001

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--ทีเอ

ทีเอหนุนกิจกรรมสร้างสังคมไทย ผลิตนักวิทยาศาสตร์น้อย กระตุ้นเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผ่านการประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ โครงงาน กรรมการผู้จัดการย้ำต้องช่วยกันสร้าง กระตุ้นส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล และเป็นคนใฝ่รู้ ด้านครูและเด็กที่เข้าร่วมโครงการชี้เป็นกิจกรรมที่ดีกระตุ้นเด็กอยากรู้อยากเห็น

ทีเอร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย ได้จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล ในโครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี ๒๕๔๔ โดยมีคุณวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการเป็นประธานในพิธี ซึ่งในปีนี้มีโครงการที่ส่งเข้าประกวดจำนวน ๓๔๑ โครงการ และมีโครงการที่ผ่านเข้าสู่ตอบตัดสินจำนวน ๑๒ โครงการ

ทั้งนี้โครงงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองประกอบด้วย โครงงานห่อไว้ไร้หนอน จากโรงเรียนบ้านมะขาม จังหวัดจันทบุรี โครงงานการเลี้ยงผีเสื้อโดยใช้ผลไม้ทดแทนดอกไม้ จากโรงเรียนนีรชาศึกษา เขตคลองสามวา บางชัน โครงงานการสำรวจเครื่องมือหาปลาและชนิดของปลา จากโรงเรียนบ้านอีเซ จ.ศรีสะเกษ

รางวัลเหรียญเงิน ได้แก่โครงงาน การศึกษาทดลองเลี้ยงแมงป่องช้าง โรงงานสนมศึกษาคาร จ.สุรินทร์ โครงงาน MINI LIBRARY โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ โครงงานตุ่มทำน้ำเย็นเพื่อเทคโนโลยีสะอาด และโครงงานตะลุยอวกาศ ประภัสสรวิทยา จ.ชลบุรี

รางวัลเหรียญทองแดง ได้แก่โครงงานพลังงานทดแทนจากซังข้าวโพด โรงเรียนบ้านห้วยบง จ.ตาก โครงงานขยะลดสารก่อมะเร็ง โรงเรียนประภัสสรวิทยา จ.ชลบุรี โครงงานขี้ผึ้งกระเทียมพิชิตกลากเกลื้อน โรงเรียนเมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ โครงงานการใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันก๊าดในการจุดตะเกียง โรงเรียนหมู่บ้านเศรษฐกิจ กทม. และโครงงานการป้องกันกลิ่นเหม็นจากโรงงานยางพารา จากโรงเรียนพะตงวิทยามูลนิธิ จ.สงขลา

ภายหลังพิธีมอบรางวัล คุณวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กล่าวว่านับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปีนี้มีโครงงานส่งเข้ามาประกวดมากที่สุดในรอบ ๗ ปี ซึ่งเป็นผลจากความตื่นตัวและให้ความสนใจจากคณะครู นักเรียนทั่วประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาว่าการทำกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้ที่มีผลดีต่อ ผู้เรียน ต่อการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน จนถึงปัจจุบันมีโครงการส่งเข้ามาประกวดรวมแล้วกว่า ๑,๐๐๐ โครงการ

ในฐานะที่บริษัทฯทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสื่อสารโทรคมนาคม ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงร่วมกับสมาคมฯทำโครงการประกวดการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนของประเทศ หันมาสนใจวิทยาศาสตร์.......... "ทำอย่างไรที่เราจะสร้างค่านิยมที่ให้เยาวชนของประเทศเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ หากเยาวชนหันมาสนใจ ใฝ่รู้ ตื่นตัว พัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักคิด ตั้งคำถาม รู้จักสังเกต มีเหตุผล กล้าคิด กล้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราก็ยังมีความหวัง"

"วิชาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสังคมในอนาคตที่เราเรียกว่าสังคม Knowledge base society ซึ่งการจะก้าวไปสู่สังคมดังกล่าว เราจะต้องสร้างประชากรของเราให้เป็นคนที่มีภูมิปัญญา เป็นคนที่มีนิสัยการเรียนรู้ เพื่อนำภูมิปัญญา ความรู้มาสู่ การสร้างคุณค่าที่ดีของสังคม ซึ่งโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนหนึ่งที่จะเอื้ออำนวยให้เยาวชนของประเทศเป็นคนที่รู้จักเรียนรู้ รู้จักการสร้างภูมิปัญญาแห่งตน" คุณวิเชาวน์ กล่าวในตอนท้าย

.......... สอนเด็กกล้าคิดกล้าทำ.......... เรียนรู้คิดอย่างมีเหตุผล

.......... จากโครงการดังกล่าว ใยแก้วสัมพันธ์ได้สอบถามความคิดเห็นเด็กนักเรียนและครูที่เข้าร่วมกิจกรรมถึงสิ่งที่ได้รับจากการประกวดในครั้งนี้ เด็กหญิงพิชชาพร ขันติวงศ์ จาก โรงเรียนบ้านอีเซ (สุราษฎร์วิทยา) จ.ศรีสะเกษ ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้กลับไปไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องปลาที่สนอกสนใจเป็นพิเศษเพราะไม่เพียงมีประเพณีที่เกี่ยวพันในชุมชนอย่าง " ประเพณีกินข้าวป่าจับปลาบุ่ง " เท่านั้นยังเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวด้วย

.......... "หนูกับเพื่อนๆอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับปลา มีกี่ชนิด อะไรบ้าง แล้วอุปกรณ์จับปลาเป็นแบบไหน เพราะที่บ้านมีประเพณีกินข้าวป่าจับปลาบุ่ง จะได้ช่วยพ่อกับแม่จับปลาเวลาไม่ว่าง พอมาศึกษาก็ได้รู้อะไรเยอะแยะ รู้ว่าปลามีกี่ประเภท เราควรจับมันอย่างไร "

.......... นอกจากได้ความรู้ในสิ่งที่อยากรู้แล้ว น้องพิชชาพรบอกอีกว่า ยังได้ความรู้จากโครงงานต่างๆที่เพื่อนๆต่างโรงเรียนส่งเข้าประกวดกลับไปไม่น้อยทีเดียว ที่สำคัญคือได้เพื่อนใหม่ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมครั้ง

.......... ส่วนเด็กชายชนานนท์ ทรัพย์ธนาดล จากโรงเรียนประภัสสร ชลบุรี ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินกล่าวว่า " ได้ประโยชน์ในการเรียนมากเลยครับ ช่วยให้เราได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองทั้งจากผู้รู้จากหนังสือ แล้วยังได้ความรู้จากโครงงานของคนอื่นเพิ่มเติมด้วย ปีหน้าจะส่งโครงงานเข้ามาประกวดอีกครับเพราะอยากได้ประสบการณ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น อยากรู้จักคิดเอง หาวิธีค้นหาสิ่งที่อยากรู้ แล้วก็อยากสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนด้วย" สำหรับเด็กชายบัญชา ภูทอง หนึ่งในเจ้าของโครงงาน "ห่อไว้ไร้หนอน " จากโรงเรียนบ้านมะขาม จ.จันทบุรี ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทอง กล่าวว่า "มาแล้วได้ประสบการณ์ที่อยากได้กลับไปเยอะทีเดียวครับ นอกจากได้ความรู้จากการศึกษาทำโครงงานของเราแล้ว ยังได้ความรู้จากโครงงานต่างๆที่โรงเรียนอื่นๆเอามาเสนอด้วย แล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย "

.......... ทางด้าน ร.ศ. ก่องแก้ว เจริญอักษร อาจารย์พิเศษ ภาคมัธยมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มาก สอนให้เด็กนำเอาสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แทนที่จะเอาของฝรั่งมาใช้ สิ่งนี้ไม่เพียงสอนให้เด็กคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง ยังสอนให้เด็กมีความเป็นผู้นำ นำเอาแนวคิดที่ได้มาจากการศึกษาหาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชนซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องชมเชยครูที่อยู่กับเด็ก คอยให้ชี้แนะให้คำแนะนำเด็ก"

.......... "หากเป็นไปได้ อยากให้ผู้จัดคอยติดตามและให้การสนับสนุนส่งเสริมเด็กที่มีแวว มีแนวคิดดีๆให้ได้รับการศึกษาสูงๆจะในรูปแบบทุนหรืออะไรก็ตาม เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่น้อยทีเดียว"--จบ--

-สส-