"รมต.จาตุรนต์" เร่งเปลี่ยนถังก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้านใหม่เริ่มพื้นที่แรก 15 ม.ค. สิ้นสุด 30 พ.ย. 45 จับมือผู้ค้าลงขัน 1,200 ล้านบาท ล้างถังขาว 2 ล้านใบ

04 Jan 2002

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สพช.

รมต.จาตุรนต์ เร่งล้างถังขาว 2 ล้านใบ เริ่มพื้นที่แรกกรุงเทพและปริมณฑล 15 ม.ค. นี้ โดยภาครัฐบาลจับมือผู้ค้าก๊าซทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนถังขาวให้ชาวบ้าน 2 ล้านครัวเรือน หรือ 2 ล้านใบออกจากระบบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้เสร็จภายใน 1 ปี

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง "นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการแลกถังขาว" ณ โรงแรมปริ๊นพาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2545 เพื่อชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจในขั้นตอนและวิธีการแลกเปลี่ยนถังขาว ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 15 มกราคม 2545 ในพื้นที่ที่ 1 ประกอบด้วย จังหวัดกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และจะทยอยแลกให้ครบ 10 พื้นที่ภายใน 30 พฤศจิกายน 2545 คือ 1)กรุงเทพฯ และปริมณฑล 2) ภาคกลาง 3) ภาคตะวันออก

4) ภาคตะวันตก 5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 6) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 7) ภาคเหนือตอนล่าง 8) ภาคเหนือตอนบน 9) ภาคใต้ตอนบน และ 10) ภาคใต้ตอนล่าง โดยจะดำเนินการแลกเปลี่ยนถังขาวพื้นที่ละ 2 เดือน รมต. จาตุรนต์ได้เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนถังขาวในพื้นที่ที่ 1 จะมีศูนย์รับแลกเปลี่ยนถังขาวอยู่ในกรุงเทพฯ 10 ราย นนทบุรี 4 ราย ปทุมธานี 7 ราย สมุทรปราการ 11 ราย และสมุทรสาคร 9 ราย รวม 41 ราย ซึ่งเพียงพอที่จะให้ร้านค้าก๊าซนำถังก๊าซที่ประชาชนใช้อยู่ไปแลกเปลี่ยนภายในเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2545 โดยคาดว่าจะมีถังขาวไปแลกเปลี่ยน ประมาณ 200,000 ใบ ประกอบด้วยถังขนาด 4 กิโลกรัม 90,000 ใบ ขนาด 15 กิโลกรัม 90,000 ใบ และ 48 กิโลกรัม 20,000 ใบ ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนถัง 112 ล้านบาท โดยรัฐบาลและผู้ค้าก๊าซออกฝ่ายละครึ่ง เป็นการช่วยเหลือ ประชาชนผู้ใช้ถังขาวได้ประมาณสองแสนครอบครัวในพื้นที่ที่ 1รมต. จาตุรนต์ ยังได้กล่าวขอบคุณผู้เกี่ยวข้องและให้แนวคิดในการดำเนินโครงการว่า ก๊าซหุงต้มเป็นสินค้าที่มีอันตราย อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ประกอบการค้าก๊าซหุงต้ม จะต้องมีภาพพจน์ที่ดีและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนทั่วไปเป็นสำคัญ จึงจะประกอบการค้าได้อย่างยั่งยืน มิฉะนั้นแล้ว ประชาชนจะไม่ยอมรับ ซึ่งไม่ใช่เพียงไม่ยอมซื้อสินค้าเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นขับไล่ไม่ให้ประกอบกิจการอยู่ใกล้บ้านเรือนหรือชุมชน เพราะเกรงกลัวอันตราย

รมต.จาตุรนต์ กล่าวต่อว่าตามที่รัฐบาลได้จัดให้มีการปรับปรุงระบบการค้าและมาตรฐานความปลอดภัยในธุรกิจก๊าซหุงต้มนั้น จากการสำรวจพบว่ามีประชาชนที่ใช้ถังก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือ "ถังขาว" ที่มีอยู่จำนวน 2 ล้านถัง แสดงว่าขณะนี้มีถังขาวอยู่ในบ้านเรือนทั่วประเทศถึง 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งถังขาวนี้จะไม่มีผู้รับผิดชอบในการดูแลซ่อมบำรุง และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่ครอบครองถังขาวเป็นผู้มีรายได้น้อยในชนบท

สำหรับปัญหาที่ผ่านมาของถังขาวคือ มีราคาถูกกว่าถังของผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 ชาวบ้านจึงนิยมซื้อไว้ใช้ แต่ปัญหาคือจะไม่มีผู้ค้าก๊าซรายใดรับผิดชอบในการซ่อมบำรุงให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ส่วนการที่จะให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องเปลี่ยนไปใช้ถังที่มีผู้รับผิดชอบซ่อมบำรุงก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับ 800-1,000 บาท/ถังขนาด 15 กก. ให้กับผู้ค้าก๊าซ ด้วยเหตุนี้ทางรัฐบาลจึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความเดือดร้อนของประชาชน จึงเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวโดยร่วมมือกับผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนถังขาวที่ไม่ได้มาตรฐานและขาดผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบและบำรุงรักษาออกไปจากท้องตลาด ซึ่งการขจัดถังขาวจำนวน 2 ล้านใบออกจากระบบ ต้องใช้เงินจำนวน 1,200 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยเหลือ จำนวน 600 ล้านบาท ส่วนอีก 600 ล้านบาท ผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 จะเป็นผู้ร่วมออกค่าใช้จ่ายวิธีการแลกเปลี่ยน คือ ร้านค้าปลีกก๊าซหุงต้ม จะเป็นผู้นำถังขาวที่ประชาชนใช้ก๊าซหมดแล้วไปแลกยังจุดแลกของผู้ค้าก๊าซ ซึ่งได้แก่ โรงบรรจุก๊าซ และคลังก๊าซในพื้นที่ ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 360 โรงทั่วประเทศ โดยประชาชนไม่ต้องดำเนินการแลกถังขาวด้วยตัวเอง แต่เป็นหน้าที่ผู้ค้าก๊าซจะจัดหาถังใหม่ซึ่งเป็นถังที่ได้มาตรฐานของผู้ค้าก๊าซทั้ง 7 ราย สำหรับแลกเปลี่ยนมาไว้ยังโรงบรรจุ โดยทุกใบจะมีข้อความ "รัฐช่วยราษฎร์แลกถังขาวฟรี" ปรากฏอยู่บนถังใต้ตราของผู้ค้าก๊าซ และต้องจัดเตรียมสีสำหรับใช้ทำเครื่องหมายบนถังขาวที่ตรวจนับ โดยกำหนดให้ใช้ "สีเหลือง" รวมถึงต้องประสานโรงบรรจุก๊าซภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนในการเตรียมการและการปฏิบัติการของโรงบรรจุก๊าซ ได้แก่ การจัดเตรียมสถานที่และการจัดเจ้าหน้าที่ของโรงบรรจุ เพื่อช่วยเหลือคณะอนุกรรมการส่วนจังหวัดในการตรวจนับ

ในการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลได้เสริมมาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์ "ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ก๊าซหุงต้ม" โดยมุ่ง

สื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในแผนปฏิบัติการแลกเปลี่ยนถังขาว เข้าใจในโทษภัยของการใช้ถังขาว และพร้อมปฏิเสธการใช้ถังขาวโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันการเอารัดเอาเปรียบจากการบรรจุเนื้อก๊าซไม่ได้มาตรฐาน และสามารถร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานของรัฐได้สะดวกและรวดเร็ว

ทั้งนี้ได้จัดเตรียมแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น 1.ในกรณีการถูกปฏิเสธไม่รับแลกถัง ให้หน่วยงานจังหวัด ได้แก่ โยธาจังหวัด ทะเบียนการค้าจังหวัด เจรจากับเจ้าของร้านค้าก๊าซ หรือจัดหาร้านค้าก๊าซรายใหม่ให้ 2.ในกรณีถังก๊าซไม่เพียงพอและประชาชนไม่เจาะจงยี่ห้อ ให้คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินการขจัดถังก๊าซหุงต้มที่ไม่มีผู้รับผิดชอบซ่อมบำรุง (ถังขาว) ออกจากตลาด จัดหาจากผู้ค้าก๊าซรายอื่นให้ โดย ปตท. ได้ยืนยันความพร้อมของการสนับสนุนถัง 3.ในกรณีถังขาวคงเหลือหลังจากหมดโครงการแลกเปลี่ยน หากพบว่ามีถังขาว โรงบรรจุก๊าซและผู้ค้าก๊าซจะต้องรับผิดชอบหรืออาจมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หากตกค้างจากประชาชนนำมาล่าช้า รัฐจะรับแลกเปลี่ยนถังขาวตกค้างภายใน 1 เดือนหลังโครงการสิ้นสุด

สำหรับวิธีการสังเกต "ถังขาว" ง่ายๆ คือเป็นถังก๊าซหุงต้มที่ผลิตขึ้นอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการผลิตถังของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คือ มีเครื่องหมาย มอก. แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบซ่อมบำรุงระหว่างอายุการใช้งาน ถังดังกล่าวมี 2 ลักษณะคือ 1) ไม่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 หรือ 2) เป็นถังปลอม คือ ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 ในปัจจุบันมีผู้ค้าก๊าซหุงต้มตามมาตรา 7 ประกอบด้วย ปตท. ยูนิคแก๊ส สยามแก๊ส เวิลด์แก๊ส ยูเนียนแก๊ส แสงทอง และคาลเท็กซ์--จบ--

-อน-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit