มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจัดดูดาวและฝนดาวตกลีโอนิคส์

14 Nov 2001

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี

สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ ชมรมดาราศาสตร์และอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดให้ประชาชนชมปรากฎการณ์ฝนดาวตก “ลีโอนิคส์” อย่างใกล้ชิด

ดร. ประพันธ์ แม่นยำ อาจารย์สาขาฟิสิกส์และที่ปรึกษาชมรมดาราศาสตร์และอวกาศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้เตรียมกิจกรรมให้ประชาชนได้ร่วมเข้าชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกอย่างใกล้ชิด โดยตั้งแต่เวลา 18.00 น. จะเริ่มตั้งกล้องดูดาวประมาณ 5 ตัว เพื่อให้ประชนได้สังเกตดาวเคราะห์ต่างๆ ได้แก่ ดาวอังคาร ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี พร้อมทั้งมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับฝนดาวตก และร่วมชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกลีโอนิคส์ พร้อมๆ กัน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่หลังเที่ยงคืนต่อเนื่องไปถึงช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนดาวตกสูงสุดในเวลา 01.19 น.

ที่ปรึกษาชมรมดาราศาสตร์และอวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวด้วยว่า ฝนดาวตกลีโอนิคส์เกิดจากฝุ่นผงหรือสะเก็ดของดาวหางเทิมเบิ้ล ทัชเทิ้ล ซึ่งมีการโคจรทุกๆ 33 ปี โคจรผ่านเข้าใกล้โลก ทำให้มองเห็นธารฝุ่นผงหรือกลุ่มสะเก็ดดาวจำนวนมากเคลื่อนผ่านท้องฟ้าคล้ายกับฝนที่ตกลงมาได้ด้วยตาเปล่า โดยสังเกตไปทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวสิงโต กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวคนคู่ หรือกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ หากท้องฟ้าเปิดคาดว่าจะเห็นได้ประมาณ 30-40 ดวงต่อชั่วโมง

นอกจากกิจกรรมการดูดาวและสังเกตฝนดาวตกแล้ว ยังได้จัดการอบรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการค่ายดาราศาสตร์ ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2544 ณ วัดมกุฎคีรีวัน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายทางด้านดาราศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับการดูดาว การสังเกตฝนดาวตก รวมไปถึงการติดตั้งและการใช้กล้องดูดาว เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะด้านดาราศาสตร์ให้แก่สมาชิกของชมรมด้วย--จบ--

-สส-