สยามคราฟท์อุตสาหกรรมรับ ASIA WASTE MANAGEMENT EXCELLENCE AWARDS 2001

19 Nov 2001

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--เครือซีเมนต์ไทย

สยามคราฟท์อุตสาหกรรมรับ ASIA WASTE MANAGEMENT EXCELLENCE AWARDS 2001 จาก RIET (Regional Institute of Environmental Technology)

บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตกระดาษคราฟท์ เพื่อการบรรจุภัณฑ์ ในธุรกิจกระดาษ และบรรจุภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ได้รับรางวัล ASIA WASTE MANAGEMENT EXCELLENCE AWARDS 2001 ประเภท ภาคอุตสาหกรรม (Industry Category) จาก RIET (Regional Institute of Environmental Technology) ซึ่งมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในทวีปเอเซีย รวม 21 รายสมัครเข้ารับรางวัลประเภทนี้ พิธีรับรางวัล ฯ ซึ่งจัดขึ้น เป็นครั้งแรก ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดย นายไพรัช เมฆอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม เป็นผู้รับมอบรางวัลจาก YB Datuk Seri Ong Ka Ting, Minister of Housing and Local Government ของประเทศมาเลเซีย

ASIA WASTE MANAGEMENT EXCELLENCE AWARDS 2001 เป็นรางวัลที่ RIET (Regional Institute of Environmental Technology) มอบให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงองค์กรเอกชนอิสระ หน่วยราชการ และบุคคลที่อุทิศให้กับการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญ และมีผลงานดีเด่น ด้านการจัดการของเหลือใช้จากกระบวนการผลิต พร้อมทั้งสามารถพัฒนา และปรับปรุงทั้ง ในด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต วัสดุอุปกรณ์ เทคนิคการจัดการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ ให้สอดคล้องกับ แนวโน้มในอนาคต ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถ เป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practices) สำหรับผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม รายอื่นในภูมิภาคเอเชีย อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ต่อไป โดยได้แบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภท จะมีผู้ได้รับรางวัลเพียง 1 รางวัล คือ

ประเภทบุคคล (Individual Category)

ประเภทหน่วยงานราชการ (Governmental Department Category)

ประเภทภาคอุตสาหกรรม (Industry Category)

ประเภทองค์กรเอกชนอิสระ (NGO Category)

บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้คงอยู่คู่กับ การพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องตลอดมา ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นบริษัทนำร่อง รายแรกในประเทศไทย ที่เข้าร่วมโครงการ GRI (Global Reporting Initiative) กับ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงาน ประจำภูมิภาคเอเชียของ The Greening of Industry Network (GIN) หรือ GIN-ASIA ทั้งนี้เพื่อมีส่วนร่วม ในเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ กับภาคอุตสาหกรรม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ในการวางนโยบายและการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่สมดุล ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) และเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ในประเทศไทย และในทวีปเอเชีย ในการเป็นองค์กรธุรกิจ ที่มีความรับผิดชอบ ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต--จบ--

-สส-