กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกท่าน ร่วมงานอภิปราย "3 ปีโครงการวางท่อส่งก๊าซไทย-พม่าของ ปตท. ไทยได้ ไทยเสียอะไร? "

07 Jun 2001

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ปัจจุบันกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นที่สนใจของนานาอารยะประเทศที่พากันตระหนักถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายจากวิกฤติการณ์เรือนกระจก( Green House Effect) ซึ่งเป็นผลจากการทำลายป่าไม้ และสภาพแวดล้อม ทำให้อุณหภูมิของพื้นผิวโลกสูงยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและน่ากลัว หลายทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างตระหนักดีในวิกฤติการณ์ที่ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างพินาศและรวดเร็ว วันแล้ววันเล่า ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ร้อนจัด อุทกภัยและวาทภัย เราเฝ้าดูด้วยความเสียใจ เสียดายและสลดหดหู่ ความหวังที่จะพึ่งพาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้พิทักษ์รักษาไว้ดูจะเป็นเรื่องเกินวิสัย

ดังจะเห็นได้จากโครงการวางท่อก๊าซไทย-พม่า ของ ปตท.. ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม เมื่อเริ่มโครงการ พ.ศ.2539 ปตท.ได้โฆษณาชวนให้คนทั้งประเทศเชื่อ ตัวอย่างเช่น

1. ปตท.จำเป็นต้องทำลายป่าลุ่มน้ำชั้น 1 A เพื่อวางท่อส่งก๊าซ จะฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์เหมือนเดิมและจะปลูกป่าอีก 3 หมื่นไร่ให้จังหวัดกาญจนบุรี ถึงวันนี้ความฝันยังไม่เป็นจริง

2. ปี 2541 รัฐบาลชวน หลีกภัย ปตท.นายพละ สุขเวช นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กฟผ.ผู้ผลักดันโครงการวางท่อส่งก๊าซไทย-พม่าในขณะนั้น ต่างยืนยันความเท็จว่า หากวางท่อไม่เสร็จก่อน 1 สิงหาคม 2541 จะต้องถูกพม่าปรับเป็นเงินมหาศาลต้องดันทุรังสร้างให้เสร็จ แล้วทำไมวันนี้ 3 ปีผ่านไป ประเทศไทยถึงต้อถูกพม่าปรับ 29,565 ล้านบาท

3. ขอให้คนกาญจนบุรีเสียสละเพื่อคนไทยทั้งประเทศชาติ ยอมให้ ปตท.วางท่อส่งก๊าซผ่านจังหวัดกาญจนบุรี (ทั้งที่ไม่ผ่านก็ได้) เพื่อให้โอกาสคนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก๊าซหุงต้มถูกลง ได้ใช้กระแสไฟฟ้าถูกลง

จากตัวอย่าง ถึงวันนี้ผ่านไป 3 ปี สิ่งที่ ปตท.ชวนเชื่อเป็นเท็จทั้งสิ้น ทิศทางการพัฒนาพลังงานที่ผิดพลาดเป็นภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ ประเทศชาติ ซ้ำร้ายความผิดพลาดโดยโครงการของรัฐกลับผลักภาระมาให้ประชาชนทั้งประเทศต้องรับผิดชอบ

"ค่าไฟแพงขึ้น" กำลังเป็นปัญหาทางสังคมที่สร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนทุกกลุ่ม เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ได้เสนอโดยมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า ค่าเอฟที (FT) ในอัตรา 24.44 สตางค์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ปีนี้ ทำให้ประชาชนผู้บริโภคไม่เพียงแต่ต้องจ่ายค่าไฟรายเดือนแพงขึ้น จาก 2.20 บาทต่อหน่วยเป็น 2.45 บาทต่อหน่วยเท่านั้น แต่ยังต้องควักเงินเพิ่มมากขึ้นเมื่อซื้อสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต

ต้นเหตุของการขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายด้านพลังงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล การผูกขาดกิจการของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และความไม่โปร่งใสทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการทำสัญญาซื้อ-ขายพลังงานและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในจำนวนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น 24.44 สตางค์ที่ประชาชนกำลังแบกรับอยู่นี้เป็นผลมาจากที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าปรับก๊าซธรรมชาติให้พม่าถึง 14.39 สตางค์ อันเนื่องมาจากความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายจัดหาก๊าซและการทำสัญญาซื้อ ขายก๊าซธรรมชาติระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กับรัฐบาลพม่าจากแหล่งยาดานาและเยตากุน ในลักษณะที่ไม่สมเหตุสมผล

นับตั้งแต่ พ.ศ.2541-2543 ปตท.ต้องจ่ายค่าปรับก๊าซให้พม่าถึง 2 สัญญาคือสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา จ่ายค่าปรับไปรวม 26,317 ล้านบาทและจากแหล่งเยตากุนอีก 3,248 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 29,565 ล้านบาท

ขณะที่ กฟผ.ดำเนินงานแบบผูกขาด ขาดความโปร่งใส จนเกิดความผิดพลาดและกลายเป็นการสร้างหนี้สินแก่ประเทศชาติถึง 600,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีไม่เสร็จทันเวลาที่จะต้องรับก๊าซ การออกแบบโรงไฟฟ้าที่ไม่สอดคลอ้งเหมาะสมกับเชื้อเพลิง และอื่นๆ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจผิดพลาด อันนำไปสู่การวางแผนจัดหาพลังงานสำรองและการลงทุนล่วงหน้าที่ผิด สร้างหนี้สินและผลเสียหายติดตามมาเป็นลูกโซ่

เม็ดเงินความเสียหายเหล่านี้คือ ภาระที่รัฐบาล การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ปตท.และสพช.พร้อมใจกันผลักภาระแก่ประชาชน โดยส่งผ่านความเสียหายมาเป็นค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นและราคาก๊าซที่สูงขึ้น พร้อมกันนั้นก็พยายามกล่าวอ้างว่า สาเหตุความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความไม่แน่นอนของราคาเชื้อเพลิงโลก ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและอัตราค่าแลกเงินหรือค่าเงินบาทอ่อนตัว แม้แต่ในช่วงแรกของการจะขยับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า กลุ่มผู้คัดค้านการวางท่อก๊าซผ่านเขตป่าสมบูรณ์เขาตะกั่ว ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 A ยังตกเป็นจำเลยหนึ่งของการถูก ปตท.กล่าวหาว่า เป็นผู้ทำให้การก่อสร้างท่อไม่เสร็จตามเวลา ที่สำคัญการผลักภาระนี้จะยังไม่จบเพราะหนี้สิน การขาดทุน ภาระค่าปรับ ฯลฯ ของบรรดาหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพลังงานยังคงดำรงอยู่ บางส่วนถึงกับจะเพิ่มพูนขึ้นด้วยจากการทำโครงการใหม่ ๆ ภายใต้การดำเนินการแบบเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส เฉพาะในส่วนของค่าเอฟทีนั้นก็จะต้องมีการพิจารณาปรับกันทุก ๆ ระยะ 4 เดือน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงพยายามผลักดันให้มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขึ้นค่าไฟแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความเสียหายนั้นรุนแรงมหาศาลและขยายความเดือดร้อนอย่างกว้างขวางไปถึงทุกส่วนของสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญานเตือนของสังคมที่สำคัญยิ่งว่าเราทุกคนไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไป ไม่อาจปล่อยให้การกำหนดนโยบาย การวางแผน และการดำเนินงานรวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของนักการเมืองในรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเพียงไม่กี่แห่งได้อีกต่อไป โดยเฉพาะการดำเนินการที่ผูกขาด ขาดความโปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพและติดอยู่ในแนวความคิดของการพัฒนาแบบดั้งเดิม

หากประชาชนทุนคนนิ่งเฉย เราคงไม่อาจประเมินค่าได้ว่า ความเสียหายที่จะเกิดต่อไปจากความพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการก่อสร้างท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียที่สงขลา และอีกหลายต่อหลายโครงการด้านพลังงานภายใต้การทำงานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะบาดลึกและขยายวงกว้างขวางขนาดไหนและประชาชนคนไทยจะต้องสูญเสียอะไรไปและจ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร

จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายในสังคมจะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อร่วมหามาตรการและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภาครัฐและการตรวจ สอบเพื่อนำไปสู่ความโปร่งใสและการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดขององค์กรเหล่านี้

"ร่วมกันยุติความผิดพลาดและฉ้อฉลที่กำลังกลืนกินสังคม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมแล้ว และซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนทุกระดับเสียที "

กำหนดการอภิปราย

08.30-09.00 ลงทะเบียน

09.00-09.10 กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานการจัดงาน โดย คุณภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์

09.10-10.00 ปาฐกถาเรื่อง "หยุดโครงการพลังงานที่ผิดพลาด หยุดการผลักภาระแก่ประชาชน" โดย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์

10.00-10.10 พัก..เครื่องดื่ม

10.10-12.30 เสียงจากประชาชน "หยุดโครงการพัฒนาพลังงานขนาดใหญ่ก่อนประเทศชาติจะเสียหายไปกว่านี้ "

บทเรียนความเสียหายจากโครงการวางท่อส่งก๊าซฯไทย-พม่า ป่าสู่เมือง

คุณบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์

ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก

โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จ.สงขลา

ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

อภิปรายแลกเปลี่ยน

ดำเนินรายการโดย คุณพิภพ อุดมิทธิพงศ์ นิตยสารปาจารยสาร

12.30-13.30 อาหารกลางวัน

13.30-16.30 อภิปรายหัวข้อ "ความผิดพลาดและความเสียหายจากนโยบายพลังงานที่ผ่านและการจัดการปัญหาจากมุมมองต่าง

ๆ โดย

การพัฒนาพลังงานส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรณีโครงการวางท่อส่งก๊าซไทย-พม่า

สว.โสภณ สุภาพงศ์ คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

นโยบายพลังงานกับความมั่นคงตามแนวชายแดน

คุณพิชัย รัตพล รองเลขาธิการสภาพความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ความไม่โปร่งใสในการบริหารทำโครงการของรัฐ

คุณพิภพ ธงไชย ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

  • ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อประชาชนค่า FT

อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การวิเคราะห์และการประเมินพลังงานที่ผิดพลาด

นพ.บรรลือ เฮงประสิทธิ์ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

อภิปรายแลกเปลี่ยน

  • ดำเนินรายการโดย คุณสุริยใส กตะศิลา รองเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

16.30-17.00 กล่าวสรุปและปิดการประชุม

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางได้ที่ มูลนิธิสืบฯ 5612469-70--จบ--

-อน-