กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--เบรคธรู พีอาร์
"โรคสมองขาดเลือด หรือสโตร๊ก" (Stroke) อาจฟังไม่คุ้นหูสำหรับคนไทย แต่หากพูดถึง
"อัมพาตครึ่งซีก" หลายคนคงรู้จักดี เพราะคนรอบข้างเป็นมากขึ้นทุกวัน ในสภาวะความเครียดทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน อัมพาตอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทำให้สถิติผู้ป่วยอัมพาตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นอันดับ 3 ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยรองลงมาจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ โดยมีสาเหตุสำคัญคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากการอุดตันของเส้นเลือดที่เป็นทางเดินของเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตในระยะต่างๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
นายแพทย์ชาญพงค์ ตังคณะกุล แพทย์ประจำศูนย์สมองกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า อาการเริ่มต้นของสมองขาดเลือด แบ่งตามความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
1. อาการน้อย กล้ามเนื้ออ่อนแรงจะเป็นที่แขนอย่างเดียว ขาอย่างเดียว หน้าและแขน การเคลื่อนไหวช้าลง ที่ใบหน้าจะเห็นมุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ ความจำเสื่อมชั่วขณะ คิดอะไรไม่ออก พูดไม่ชัด เป็นต้น
2. อาการปานกลาง (อัมพฤกษ์) นอกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้ว ผู้ป่วยจะสูญเสียการทรงตัว บางขณะมีอาการตามัวครึ่งตา หรือมืดไปข้างหนึ่ง สูญเสียความทรงจำและความสามารถด้านการคิดคำนวณหรือการตัดสินใจ และมักมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ
3. อาการรุนแรง (อัมพาต) เกิดการอ่อนแรงของแขนและขา ขยับแขนหรือขาเองไม่ได้ สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ หรือเปล่งเสียงออกมาจากลำคอไม่ได้ กล้ามเนื้อหน้าทำงานไม่เท่ากัน หนังตาตก กลอกตาไม่ได้ กลืนอาหารลำบาก ปฏิกิริยาตอบสนองช้า สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น
ผู้ปวยโรคสมองขาดเลือดซึ่งเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวาง คือกรณีของนายเคอิโช โอบูชิ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นวัย 62 ปี ซึ่งล้มป่วยกระทันหันด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2543 และถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในเวลาต่อมา ท่ามกลางความอาลัยของขาวญี่ปุ่นและผู้นำของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นระบุว่านายโอบูชิ ล้มป่วยด้วยโรคเซเรบราล อินเฟรกชั่น หรือสโตร๊ก (Cerebrai Infraction/Stoke) ซึ่งเกิดจากเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาการของโรคนี้ค่อนข้างร้ายแรง แม้หายป่วยก็อาจเป็นอัมพาตหรือเกิดความผิดปกติในระบบประสาท ทำให้เกิดอาการหลงลืม หรือไม่สามารถทำงานได้เหมือนคนปกติ
สำหรับสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองขาดเลือดมีหลายประการ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, ไขมันในเลือดสูง, การสูบบุหรี่, ขาดการออกกำลังกาย, ความเครียด และ โรคเบาหวาน เป็นต้น
นายแพทย์ชาญพงค์กล่าวว่า การตรวจสอบความเสี่ยงของโรคนี้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเม็ดเลือดแดงเพื่อดูความเข้มข้นของเลือด, การตรวจการอักเสบของหลอดเลือด และการตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งทำให้การวินิจฉัยรอยโรคมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT), การตรวจสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRI) และการตรวจหลอดเลือดในสมอง และหลอดเลือดด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) เป็นการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณคอที่เป็นหลอดเลือดเลี้ยงสมอง และตรวจหาความผิดปกติกรณีหลอดเลือดสมองโป่งพอง ซึ่งการเลือกใช้วิธีการใดนั้น ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้วินิจฉัย
"เมื่อได้รู้จักโรคหลอดเลือดสมองตีบและอันตรายของโรคนี้แล้ว เราควรป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดโดยวิธีปฏิบัติได้ไม่ยาก คือ ควบคุมระดับไขมัน-น้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้มากที่สุด, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, พักผ่อนให้เพียงพอ, งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมาแล้ว เราก็จะปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง" นายแพทย์ชาญพงค์ กล่าว
"อัมพาต" ป้องกันได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายแต่เนิ่นๆ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าเพียงใด การรักษาสุขภาพให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หมั่นเอาใจใส่สุขภาพด้วยการตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ก็จะช่วยให้ท่านห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บได้
เสนอข่าวในนามโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยเบรคธรู พีอาร์
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
คุณธนิษฐา เลาวกุล
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โทร. 310-3000 ต่อ 1196
คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง
เบรคธรู พีอาร์
โทร. 719-6446-8--จบ--
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit