กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์
บริษัท ซี.พี. พลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก สี่แยกพระราม 9 ซึ่งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคตครบวงจร
และศูนย์ INTERNET & E-COMMERCE CENTER ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ตลอดจนสถาบัน มูลนิธิ สมาคมที่เกี่ยวข้องในด้านการช่วยเหลือสังคมและสาธารณกุศลต่างๆ ร่วมกันจัดงาน "นวัตกรรมเพื่อคนพิการ" หรือ "INNOVATION FOR THE PEOPLE WITH DISABILITIES" ขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2544 ณ ชั้น 3-4 ลานกิจกรรม TREND & TECHNOLOGY HALL ศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงาน สิ่งประดิษฐ์ คิดค้น ในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ให้ทั้งสาระความรู้และวิทยาการต่างๆ ที่มีความแปลกใหม่ทันสมัยให้ประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึงวิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเป็นสำคัญ
ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้พิการทุกประเภทที่มีความสามารถ ได้นำประดิษฐกรรมทุกๆ ชิ้นที่ผ่านกระบวนการรังสรรค์อย่างพิถีพิถันเป็นอย่างดี ซึ่งเกิดจากการทุ่มเททั้งแรงกายและใจ เพื่อให้เป็นผลงานที่มีความลงตัวกับการใช้งานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือผู้พิการ ซึ่งนับได้ว่าหาชมได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่างเช่น ห้องอัจฉริยะ - เทคโนโลยีระบบควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า ขาเทียมไฮเทค "ซี-เลก" - ขาเทียมขาแรกของโลก ที่มีคุณสมบัติทำงานได้เหมือนจริง คอมพิวเตอร์พูดได้ - คอมพิวเตอร์ ARIA เครื่องแรกของโลกที่พูดได้ และศูนย์เครื่องช่วยฟัง(เบล) - ตรวจเช็คความบกพร่องการได้ยินฟรี และจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง ในราคาลดพิเศษ 50% ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำผลงานต่างๆ ออกเผยแพร่สู่สายตาทั้งต่อเพื่อนผู้พิการทุกประเภทและชาวไอที ได้ประจักษ์ชัดอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดให้มีการบริการรับสมัครและจัดหางานให้ผู้พิการ โดยกรมการจัดหางาน และศูนย์จัดหางานเพื่อคนพิการทุกประเภท กว่า 1,000 อัตรา พร้อมกันนี้ยังมีการจัดแสดงและสาธิตนวัตกรรมความก้าวหน้าใหม่ล่าสุดทางเทคโนโลยีแห่งอนาคตไว้อย่างครบครัน อาทิ ห้อง VIRTUAL SCHOOL ซึ่งได้เตรียมจัดแสดงพร้อมสาธิตเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีล้ำยุค เพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกประเภท รวมถึงการสาธิตผลิตขาเทียมและแจกให้กับผู้พิการในงานฟรีทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอาชีพให้ผู้พิการทุกประเภทฟรี จากมูลนิธิ, สมาคม, โรงเรียนและองค์กรต่างๆ ตลอดจนร่วมประมูลและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากผู้พิการทุกประเภทได้ทุกวัน พร้อมกันนี้ยังเปิดให้เข้าฟังสัมมนาฟรี ระหว่าง เวลา 13.00 - 16.30 น. ของทุกวัน จากบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างๆ มากมายตลอดการจัดงาน ดังนี้
วันศุกร์ที่ 28 ก.ย. 2544 "การช่วยเหลือคนพิการ ไทยกับเทศ ต่างกันอย่างไร" โดยคุณกัญจนา ศิลปอาชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทย และ "ทำไมต้องเป็นเรา? คำถามที่ต้องเลิกคิด" โดยคุณกฤษณะ ชัยรัตน์ ผู้สื่อข่าวจาก NATION ช่อง 8
วันเสาร์ที่ 29 ก.ย. 2544 " นวัตกรรมเพื่อคนพิการ" โดยคุณเพชรน้ำหนึ่ง ศรีวรรธนะ ผู้พิการด้านร่างกายและนักจัดรายการวิทยุคลื่น 102 Mhz. "ครอบครัวพลังแห่งชีวิต" โดยคุณชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และ "ก้าวสู่นักกีฬา หนทางแห่งความสำเร็จ" โดยพลโทพิศาล วัฒนพงศ์คีรี นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย และคุณภาณุมาศ สุขอัมพร อดีตกรรมการ จัดการแข่งขันเฟสปิกเกมส์
วันอาทิตย์ที่ 30 ก.ย. 2544 "กฎหมายรองรับคนพิการ" โดย ร.ศ. อาจารย์ วิริยะ นามศิริพงษ์พันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "เรียนจบด็อกเตอร์ ไม่ใช่เริ่องโกหก" โดยดร.ประกาย โภชนกิจ ผู้พิการทางหู
และพิธีกรรับเชิญ คุณมุกดา พัฒนะเอนก ผู้บริหารบริษัทเครื่องช่วยฟังเบล และ "อารมณ์ขันได้? เมื่อมีทุกข์" โดยคุณติ๊ก ชีโร่ และคุณโน้ต อุดม แต้พานิช
โดยจัดขึ้นที่บริเวณ ชั้น 3 - 4 ลานกิจกรรม ศูนย์คอมพิวเตอร์ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูนทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก สี่แยกพระราม 9 โทร. 641-1884-6 www.itmallfortune.com หรือ [email protected]
ห้องเรียน และห้องสมุด VIRTUAL SCHOOL (ชั้น 3)
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ - เครื่องพิมพ์อักษรเบล
Doramon Browser (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) - โปรแกรมสำหรับคนพิการทางด้านอวัยวะ กรณีที่ไม่มีนิ้วมือ สามารถใช้คีย์บอร์ดได้ตามปกติ เพราะคีย์บอร์ดรุ่นนี้เป็นลักษณะที่มีปุ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ใช้งานได้เหมือนคนปกติ โดยโปรแกรมนี้ ประกอบด้วย Keyboard
โอภา - อุปกรณ์สื่อสารพกพา สำหรับผู้ที่บกพร่องด้านการพูด (พูดไม่ได้ , ออกเสียงไม่ชัด)สามารถบันทึกเสียงและเล่นเสียงข้อความที่บันทึกไว้ ได้ 60 ข้อความ ข้อความละ 4 วินาที ซึ่งสามารถบันทึกเสียงใหม่ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังสั่งงานเสียงที่บันทึกไว้ผ่านรีโมทได้ พร้อมทั้งยังสามารถปรับความดังของเสียงและส่งผ่านไปยังเครื่องขยายเสียงภายนอกได้
ปราศรัย - ซอฟต์แวร์ ใช้สำหรับผู้ที่บกพร่องการพูด เพื่อให้สามารถสื่อสารกับบุคคลรอบข้างผ่านคอมพิวเตอร์ โดยปราศรัยจะทำหน้าที่เป็นเสมือนกล่องบรรจุเสียงพูดที่ใช้ในการสนทนาไว้อย่างไม่จำกัดจำนวน โดยใช้หลักการจัดเก็บฐานข้อมูลของเสียงด้วยเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ซึ่งแบ่งเสียงไว้เป็นหมวดหมู่ตามการใช้งาน โดยจะประกอบด้วยเสียงพูด รูปภาพ และข้อความ เพียงผู้ใช้เลือกคลิกสัญญลักษณ์รูปภาพที่ต้องการสื่อความหมาย หรือกดสวิตซ์เดี่ยวเมื่อใช้กับฟังก์ชันสแกน ก็จะมีเสียงของข้อความที่ต้องการสื่อสารเปล่งออกมา
ลิขิต - โปรแกรมสร้างแบบอุปกรณ์สื่อสาร พกพา อาทิ โปรแกรมอักษรลิขิต - สำหรับเด็กผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ , ผู้ที่มีความยากลำบากในการเขียนหนังสือด้วยมือ , เด็กที่ไม่สามารถใช้แป้นคีย์บอร์ดมาตราฐานได้ และเหมาะกับเด็กที่เริ่มต้นใช้คอมพิวเตอร์ สำหรับโปรแกรมกระดานลิขิต - เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเขียนและการอ่านสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งมีหน้าที่เช่นเดียวกับคีย์บอร์ดในการป้อนข้อมูลเข้าสู่โปรแกรมในคอมพิวเตอร์เพื่อพิมพ์เป็นตัวอักษร หรือส่งคำสั่งเพื่อควบคุมการทำงานโปรแกรม และยังสามารถทำงานควบคู่กับโปรแกรมสร้างแบบแป้นพิมพ์ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางตัวอักษรบนแป้นพิมพ์เป็นแบบต่างๆ หรือสร้างรูปภาพที่ใช้ตอบในแบบฝึกหัดได้ตามที่ต้องการ
รังสรรค์ภาพ - โปรแกรมเสริมสร้างการอ่าน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีมัลติมีเดีย ที่มีทั้งภาพประกอบ ข้อความ และเสียง เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการเขียนและการอ่าน ยกตัวอย่างเช่นโปรแกรมอ่านเรื่องให้ เพื่อช่วยในเรื่องของการอ่านที่ถูกต้อง และโปรแกรมสำหรับฝึกทักษะการแต่งประโยคหรือเรื่อง โดยการเลือกภาพที่ต้องการนำไปเรียงเป็นประโยค นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องของการสะกดคำได้อีกด้วย
โครงการพัฒนาโทรศัพท์สำหรับคนหูหนวก - เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารในรูปแบบของการรับ-ส่งข้อความผ่านทางสายโทรศัพท์ โดยคนหูหนวกสามารถพิมพ์ข้อความส่งไป-มาระหว่างกัน แทนการพูดและการฟังได้
IBM - เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พูดไทยได้เป็นเครื่องแรกของโลก มีชื่อว่า คอมพิวเตอร์แอเรีย (ARIA) ที่ออกแบบและผลิตขึ้น เพื่อคนตาบอดใช้โดยเฉพาะ มีขนาดเครื่องเท่ากับม้วนวีดีโอเทป จะมีเบลล์คีย์บอร์ดเพียง 7 ปุ่ม และฟังก์ชั่นคีย์อีก 8 ปุ่ม แต่สามารถทำงานได้เทียบเท่ากับ Personal Organizer ของคนสายตาปกติ สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ แม้ว่าเสียงที่เปล่งออกมาจะเหมือนกับออกมาจากหุ่นยนต์ก็ตาม แต่สามารถให้คนตาบอดใช้ทำงานต่างๆได้
INTERFOCUS - อุปกรณ์เลนส์ (LENS) พิเศษ สำหรับช่วยในการมองเห็น โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าประกอบในการสั่งทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - เป็นเครื่องบรรยายใต้ภาพภาษาไทย-อังกฤษ ซึ่ง นำระบบวีดิทัศน์ที่ซ่อนคำบรรยายภาพ มาช่วยให้คนหูหนวกหรือคนชราที่เสื่อมสมรรถภาพการได้ยินจะสามารถชมรายการวีดิทัศน์ได้เข้าใจ หรือ คนปกติที่ต้องการเรียนภาษาอังกฤษ (หรือไทย) จากการชมวีดีทัศน์ สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้จะเป็นรีโมทแบบกด เมื่อต้องการให้คำบรรยายแทรกขึ้นมา ก็ทำการกดเพื่อให้ทราบรายละเอียดเนื้อหาของเรื่องวีดิทัศน์ที่ชมขณะนั้นได้
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี - โปรแกรมระบบพจนานุกรมออนไลน์ สำหรับคนหูหนวก โดยจัดทำเป็นพจนานุกรมภาษามือ ผ่าน อินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถค้นหาคำที่ต้องการทีละคำ หรือ คำต่อเนื่องที่เป็นประโยคก็สามารถทำได้ โดยจะแสดงผลเป็นภาพภาษามือที่อธิบายคำต่างๆ ที่ต้องการได้
มหาวิทยาลัยเอเชีย - โปรแกรม CHAT แบบใช้เสียงในการโต้ตอบได้ (เว็บพูดได้)
โรงเรียนศรีสังวาลย์ - จัดบอร์ดนิทรรศการทางด้านการประชาสัมพันธ์ของผู้พิการทางด้านร่างกาย โดยบอร์ดนิทรรศการจะเผยแพร่รายละเอียดการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้พิการทางด้านร่างกายทุกประเภท
โรงเรียนเศรษฐเสถียร - จัดแสดงและสาธิตอุปกรณ์การเรียนการสอน อาทิ โปรแกรมสอนการพูด Speech Viewer , สาธิตการฝึกอาชีพ เช่นการพิมพ์ผ้า และขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานของคนพิการ
โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ - จัดแสดงและสาธิตอุปกรณ์การเรียนการสอน อาทิ คอมพิวเตอร์ทันสมัยที่มีเสียง การใช้โปรแกรม Window , คีย์บอร์ดมีเสียง, โปรแกรม CAI สื่อการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ ส.ป.ช. , Bell Display เครื่องอ่านอักษร Bell และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานของคนพิการ
โรงเรียนปัญญาวุฒิกร - จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการฝึกอาชีพพร้อมการสาธิตการทำการะบูนหอม และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หมอนอิง, ตุ๊กตา น้ำยาปรับผ้านุ่ม
ศูนย์การศึกษาพิเศษสถาบันราชภัฎสวนดุสิต - จัดแสดงและสาธิตอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อต่างๆที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการของคนพิการทั้ง 7 ประเภท
HI-LIGH ในบริเวณงาน
1.) ห้องอัจฉริยะ - เทคโนโลยีของ WhyWire ประกอบด้วย
1.) WhyWire Switch เป็นสวิทซ์ที่ควบคุมแสงสว่างแบบไร้สาย ที่ทำงานด้วยการส่งคลื่นวิทยุกำลังส่งต่ำ และสามารถกำหนดจุดติดตั้ง , โยกย้าย, เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงสวิทซ์ได้ตามความพอใจ
2.) Motion Sensor เปิดปิดไฟอัตโนมัติ อาศัยหลักการจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยไม่ต้องกดปุ่มสวิทซ์ปิดเปิด และถ้าหากไม่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสักระยะหนึ่ง Motion Sensor จะสั่งปิดไฟเอง และ
3.) Voice Recognition Control เป็นอุปกรณ์รับคำสั่งจากเสียง เพื่อทำการเปิดปิดไฟ ซึ่งผู้ใช้จะต้องทำการบันทึกเสียงของตนเองไว้สำหรับเงื่อนไขของการเปิดไฟ และปิดไฟ
2.) มูลนิธิคนตาบอด - จัดนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่พูดไทยได้เป็นเครื่องแรกของโลกมาโชว์ในงาน มีชื่อว่า คอมพิวเตอร์แอเรีย (ARIA) พร้อมการสาธิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอดและมิสเตอร์ มิลาน ฮูเดเซก ได้นำทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมกันนี้ มูลนิธิฯ ร่วมกับกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง และวิทยาลัยการอาชีพพนมสารคาม เปิดหลักสูตร ปวช.และปวส. สำหรับคนตาบอด ให้มีการนำวิธีสอนการใช้เครื่องแอเรีย บรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรแล้ว
3.) OTTO BOX - จัดนิทรรศการเปิดตำนานเกี่ยวกับวิวัฒนาการขาเทียมจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยจะนำขาเทียม รุ่น ไฮเทค ชื่อ "ซี-เลก" ทำจากไฟเบอร์และไททาเนียม มีแบตเตอรี่ให้พลังงาน ซึ่งคำว่า "ซี" ย่อมาจากคอมพิวเตอร์ไมโครโปรเซสเซอร์ มูลค่าของขา"ซี-เลก"นี้ ราคาหลักล้านบาท และขาดังกล่าวนี้สามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับขามนุษย์ปกติที่สุด พร้อมกับลดราคาพิเศษผลิตภัณฑ์ในบูธ
4.) ศูนย์ช่วยการได้ยินและเครื่องช่วยฟัง (เบล) - โดยทางศูนย์จะนำเครื่องตรวจเช็คความสามารถในการได้ยิน มาพร้อมกับห้องตรวจเช็คเคลื่อนที่ได้ เพื่อให้บริการฟรีแก่ผู้มีความบกพร่องเกี่ยวกับการได้ยินในบริเวณงาน พร้อมทั้งยังมีการจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องบำบัดในการช่วยฟังมาจำหน่ายในราคาพิเศษลด 50% ตลอดการจัดงาน และทำการตรวจเช็คอาการพิการทุกประเภท โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
5.) มูลนิธิพระมหาไถ่ (พัทยา) - เป็นทั้งมูลนิธิ โรงเรียน และศูนย์จัดหางาน โดยจัดแบ่งเป็น
5.1) โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ - มีหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับคนพิการด้านคอมพิวเตอร์ และอิเล็คทรอนิกส์ทั้งหลักสูตรที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษ 1 ปี มีนักเรียนประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้พิการแขนและขา ซึ่งจะมาร่วมในงานด้วยการนำเสนอผลงานและนวัตกรรมใหม่ อาทิ ไม้ค้ำยันพับเก็บได้ง่ายกระทัดรัด , รถประดิษฐ์วีลแชร์ นอกจากนี้ ได้นำคณะทีมงานผู้ออกแบบและดูแลเว็บไซต์ของมูลนิธิพระมหาไถ่ มาโชว์ผลงานและการทำงานทุกขั้นตอน
5.2) ศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ - จัดหางานให้กับผู้พิการทุกประเภททั้งในส่วนของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนในมูลนิธิพระมหาไถ่ และผู้พิการทั่วไปที่อยู่ภายนอกมูลนิธิฯ ที่ประสงค์จะหางานทำโดย สมัครผ่านมายังศูนย์ฯ โดยตรง ทั้งนี้ ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและติดต่อไปยังผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของกิจการโดยตรง เพื่อให้เกิดการจ้างงานในตำแหน่งที่ต้องการนั้นจริง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพราะว่ามูลนิธิฯ ได้เปิดให้บริการดังกล่าวกับผู้ที่จบหลักสูตรจากโรงเรียนของพระมหาไถ่อยู่แล้ว โดยในงานนวัตกรรมเพื่อคนพิการ จะมีการเปิดรับสมัครงานให้กับผู้พิการทุกประเภทในครั้งนี้ด้วย
6.) มูลนิธิขาเทียม - ซึ่งจะทำการสาธิตผลิตขาเทียม โดยกรมประชาสงเคราะห์จะเป็นผู้คัดเลือกผู้พิการ รับแจกขาเทียมให้กับผู้พิการฟรีวันละ 1 ท่าน ทุกวันตลอดการจัดงาน
บูธนิทรรศการ (ชั้น4)
ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพคนพิการสภาสังคมสงเคราะห์ - สาธิตการฝึกอาชีพดอกไม้ประดิษฐ์ งานจักสาน งานตัดเย็บ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากดอกไม้ประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์งานจักสานต่างๆ
ศูนย์พัฒนางานอาชีพคนพิการ - สาธิตการฝึกอาชีพผลผลิตจากผ้า เช่น ตัดชุดนักเรียน พร้อมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กระเป๋าผ้า ถุงการะบูน กระเป๋าเครื่องสำอางค์ ถุงผ้าเอนกประสงค์
สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา - สาธิตการฝึกอาชีพ ได้แก่ การทำพรมเช็ดเท้า, ผ้าเช็ดมือ, ทำดอกไม้จากสบู่ พร้อมกับจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานฝีมือ
สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง - สาธิตการสานตระกร้าจากเชือกพลาสติก พร้อมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตระกร้าสาน เสื่อพลาสติก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลามะพร้าว
สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด - สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ การเพ้นท์กระเบื้องด้วยปาก
มูลนิธิราชานุกูล - สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผู้พิการทางสติปัญญา อาทิ ตระกร้าสาน , เพ้นท์สีบนเสื้อยืด
มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย - จัดนิทรรศการในหัวข้อ "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และครอบครัว แบบครบวงจร" เพื่อสนับสนุนให้พ่อแม่ของผู้พิการได้กลับคืนสู่ครอบครัว และทำมาหากินที่บ้านเกิด โดยใช้หลักตามแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
มูลนิธิส่งเสริมคนตาบอด - สาธิต พร้อมทั้งการให้บริการและการฝึกอาชีพให้กับผู้พิการ อาทิ บริการนวดฝ่าเท้า และดูดวง
มูลนิธิศิริวัฒนาเชสเชียร์ - สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผู้พิการแขนขา อาทิ บ้านทองพูนรังสิต จะสาธิตการทำเทียนหอม และเทียนไล่ยุง ส่วนบ้านสมุทรปราการ จะสาธิตการทำดอกไม้จากดินปั้น
สมาคมคนหูหนวกประเทศไทย - สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้พิการ อาทิ หัตถกรรมด้านการแกะสลักงานไม้และเพ้นท์สีต่างๆ
มูลนิธิคนพิการไทยและโรงงานไทยวีล - นำผลิตภัณฑ์รถวีลแชร์สำหรับคนพิการ ทั้งชนิด 4 ล้อ ทำด้วยเหล็กชุบโครเมี่ยม และรถ 3 ล้อโยก มาจัดแสดงในงาน พร้อมรับสั่งผลิต สาธิตการประกอบการทำวีลแชร์และบริการซ่อมรถวีลแชร์ฟรี โดยผู้พิการ
ห้างเทสโก้ โลตัส - เปิดบูธรับสมัครงานให้กับคนพิการ 18 ตำแหน่ง อาทิ พนักงานควบคุมสินค้าคงคลัง , พนักงานรับโทรศัพท์, พนักงานห้องเอกสารรับสินค้า, พนักงานการเงิน, พนักงานจัดเรียงสินค้า และพนักงานบรรจุหีบห่อ
บริษัทเทเลคอม เอเชีย (ทีเอ) - เปิดบูธรับสมัครงาน…
กรมการจัดหางาน - เปิดบูธลงทะเบียนรับสมัครงาน จากสำนักจัดหางานกรุงเทพ 1 วิภาวดีรังสิต
แผนกโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บริษัท ซี.พี. พลาซ่า จำกัด 15/8/2001
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit