กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--อย.
ฝ่ายสหรัฐนำโดย นายฟิลิป อะเกรสส์ (Philip Agress) รักษาการรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกของสหรัฐ ได้พบปะเจรจากับเลขาธิการ อย. โดยได้แจ้งประเด็นที่จะเจรจาล่วงหน้า 4 เรื่อง ได้แก่
1. เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติ
2. เรื่องนโยบายราคายา
3. เรื่องนโยบายการนำเข้ายา
4. เรื่องสิทธิผูกขาดยากับระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยของยาใหม่
การเจรจาเริ่มเวลา 16.10 น. และเลิกเวลา 19.10 น. วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2544 ฝ่ายสหรัฐได้หยิบยกเรื่องที่ 4 ขึ้นมาเจรจาก่อนโดยแยกเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นแรก สหรัฐเสนอว่า มติคณะกรรมการยาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2544 ที่กำหนดให้ยาที่ได้รับสิทธิผูกขาดย้อนหลัง (ยาที่จดทะเบียนสิทธิบัตรครั้งแรกในประเทศอื่นในช่วง 1 มกราคม 2529 - 30 กันยายน 2534 ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pipeline Products) ก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2535 ให้บริษัทเจ้าของสิทธิผูกขาดต้องแจ้งรายชื่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อ อย.ภายใน 180 วัน ซึ่งจะถึงกำหนดราวปลายเดือนกรกฎาคม 2544 พ้นกำหนดดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ นั้น เป็นการละเมิดข้อตกลงที่ไทยเคยมีต่อสหรัฐ รวมทั้งกระทบต่อเรื่องความลับทางการค้า และกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทยาสหรัฐด้วยประเด็นนี้ อย.ไทยยืนยันว่า มติคณะกรรมการยาดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดข้อตกลงที่ไทยเคยมีต่อสหรัฐ แต่เป็นมาตรการที่จำเป็นทางการบริหารเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผูกขาดดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สิ่งที่ อย.ไทยต้องการให้บริษัทแจ้ง เพียงแค่ชื่อผลิตภัณฑ์ ประเทศแรกที่จดทะเบียนสิทธิบัตร และวันที่จดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งไม่มีข้อมูลใดเป็นความลับทางการค้า และไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระที่เกินสมควร (considerable effort) แก่บริษัทยา รวมทั้งไม่กระทบต่อกลยุทธ์ทางการตลาดแต่อย่างใด เพราะไม่ผูกพันว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องมาขึ้นทะเบียนจำหน่ายในประเทศไทย และข้อมูลเหล่านั้นจะเก็บรักษาเป็นความลับโดยเคร่งครัด
ประเด็นนี้ได้ข้อยุติเบื้องต้นว่า จะมีการเจรจากันต่อไประหว่าง อย.กับสถานทูตสหรัฐ
ประเด็นที่สอง สหรัฐเสนอว่าเดิมบริษัทยาบางบริษัทเข้าใจว่ายาใหม่ที่มาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยและอยู่ระหว่างการติดตามความปลอดภัย (Safety Monitoring Program : SMP) จะได้รับสิทธิผูกขาดโดยอัตโนมัติ แม้มิใช่ยาที่มีสิทธิบัตรหรือหรือได้รับสิทธิผูกขาดย้อนหลัง บริษัทเหล่านี้ขอเวลาในการปรับตัวโดยในช่วงที่ พ.ร.บ.ความลับทางการค้ายังไม่ประกาศใช้ ขอให้ อย.ผ่อนผันให้ได้รับสิทธิผูกขาดต่อไป ประเด็นนี้ อย.ไทยยืนยันไม่สามารถให้สิทธิผูกขาดดังกล่าวได้ และยืนยันการรักษาความลับทางการค้าอย่างเคร่งครัดแม้ พ.ร.บ.ความลับทางการค้ายังไม่ประกาศใช้
สำหรับประเด็นที่ 1-3 ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นเจรจา และยังไม่มีการแจ้งว่าจะมีการเจรจาอีกหรือไม่--จบ--
-นห-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit