(ต่อ 3) ตลาดหลักทรัพย์สรุปผลการดำเนินงาน ประจำปี 2543

01 Feb 2001

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ตลท.

4. การพัฒนาองค์กรเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลก

4.1 การปรับองค์กรตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชน

ตลาดหลักทรัพย์ได้เตรียมความพร้อมในการปรับองค์กรไปเป็นบริษัทมหาชน เพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวอย่างเอกชน มีความโปร่งใส และยุติธรรม ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนทั่วโลก โดยได้ร่วมกับ ก.ล.ต. จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ เมื่อเดือนกันยายน 2543 เพื่อนำความคิดเห็นไปประกอบการศึกษาและกำหนดรายละเอียดของเนื้อหาและขั้นตอนในการดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมการรองรับการปรับเปลี่ยนองค์กรของตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต

4.2 ปรับโครงสร้างองค์กรและการปรับปรุงระบบบริหารงานบุคคล

ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับระบบการบริหารงานบุคคล ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีความคล่องตัว และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่น โดยเตรียมการจัดตั้งสายงานเพื่อรองรับงานด้านการตลาด ด้านกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเน้นให้ความสำคัญต่อลูกค้าโดยตรง ทั้งในด้านความต้องการของลูกค้าและการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นมา

ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย

1. บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการให้บริการด้านรับฝากหลักทรัพย์ และการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ ที่สำคัญ ดังนี้

1.1 จัดตั้งโครงการพัฒนาระบบการรับฝากหลักทรัพย์ในรูปแบบใหม่ หรือ Real Time Depository Records (RTDR)โครงการพัฒนาระบบการรับฝากหลักทรัพย์ในรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า Real Time Depository Records (RTDR) จากระบบบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่รวมอยู่ในชื่อผู้ฝาก (Omnibus Account) เป็นระบบบัญชีแยกตามรายผู้ถือหลักทรัพย์ (Individual Account) ด้วยการจัดทำบัญชีรายตัวผู้ถือหลักทรัพย์ที่ซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไว้ภายใต้บัญชีสมาชิกผู้ฝากของระบบศูนย์รับฝาก ได้แก่ Broker และ Sub-broker ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนหรือบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สามารถตรวจสอบสถานะการถือครองหุ้นของตนได้ตลอดเวลาว่ามีความถูกต้องและตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ อันนำไปสู่การเพิ่มความโปร่งใสและความปลอดภัยในการฝากหลักทรัพย์ของนักลงทุนรายย่อย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบรับฝากหลักทรัพย์โดยรวม ทั้งนี้ โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาระบบ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 2544

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ศึกษาแนวทางในการกระตุ้นสัดส่วนการฝากหลักทรัพย์ในระบบไร้ใบหุ้น (Scripless) ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่ระบบไร้ใบหุ้นอย่างสมบูรณ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแผนการตลาด การสำรวจความพร้อมของระบบให้รองรับการรับฝากหลักทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้น และการศึกษาประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.2 การส่งมอบเงินหรือหุ้นในเวลาเดียวกันในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์

เพื่อพัฒนาระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดความเสี่ยง และเป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงได้

มีการนำแนวคิด Delivery versus Payment (DVP) หรือ การส่งมอบเงินหรือหุ้นในเวลาเดียวกัน มาประยุกต์ใช้กับระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ โดยเปลี่ยนแปลงจากการใช้เช็คชำระราคา มาเป็นการชำระราคาหลักทรัพย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ Bahtnet ของธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับสมาชิกกลุ่ม Custodian และผ่านระบบ Settlement Bank สำหรับสมาชิกกลุ่ม Broker และ Sub-broker โดยเริ่มใช้ระบบนี้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ในปี 2543 บริษัทฯ ได้พัฒนามาตรการบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด โดยจัดทำมาตรการบริหารความเสี่ยงรายวันต่อเนื่อง (Early Warning - Phase II) ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงด้วยการพิจารณาขนาดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสำนักหักบัญชี กรณีสมาชิกรายใดรายหนึ่งไม่สามารถชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ หรือกรณีสมาชิกไม่สามารถชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์พร้อมกัน ภายใต้เงื่อนไขว่าโอกาสที่จะเกิดความเสียหายนั้นไม่เกินกว่าระดับ 5% และบริษัทได้อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำการวิเคราะห์แนวโน้มฐานะทางการเงิน (Financial Trend Analysis) ของบริษัทสมาชิกเพื่อสร้างแบบจำลองในระบบคอมพิวเตอร์เก็บไว้เป็นฐานข้อมูล นอกจากนี้ ในปี 2543 บริษัทยังได้พัฒนาระบบการชำระราคาเพื่อรองรับการซื้อขาย SET50 Option ด้วย

2. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว จำกัด

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว จำกัด ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนและส่วเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนชาวต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ โดยเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศลงทุนในหลักทรัพย์ผ่านกองทุนรวม ได้ดำเนินงานโดยเปิดโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว และในปี 2543 มีบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมทั้งสิ้นจำนวน 6 บริษัท ทำให้มีบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 12 บริษัท ณ สิ้นปี 2543 สำหรับบริษัทที่เพิ่มเติม 6 บริษัท ได้แก่

  • บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

ติดต่อเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนสัมพันธ์โทร. 229-2035-7--จบ--

-อน-