กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและของดีเมืองธัญบุรี และจังหวัดปทุมธานี ในปัจจุบัน
วัดมูลจินดาราม ตั้งริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า อำเภอธัญบุรี ห่างจากถนนพหลโยธิน ไปตามเส้นทางถนนปทุมธานี-นครนายก ระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ปลาสวย ซึ่งได้เลี้ยงไว้ที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์จำนวนมาก แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวและให้อาหารปลาอยู่เสมอ
ศาลหลักเมือง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นศาลาแบบจตุรมุขด้านหน้าเป็นมณฑปประดิษฐานเสาหลักเมือง ลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า) เป็นเรือนไทยโบราณ ปั้นหยาขนาดใหญ่ชั้นเดียว สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ ตั้งอยู่บนริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยามีการตกแต่งลวดลายที่สวยงาม ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์การเกษตร
เป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี บริเวณสถานีทดลองข้าวคลองหลวง ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แสดงเรื่องราวและกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร ตั้งแต่อดีตกาล และมีการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Science Museum (NSM) ประกอบไปด้วยศูนย์ต่าง ๆ มากมาย ที่สามารถให้ความรู้ น่าศึกษาและค้นคว้า ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีเนื้อที่ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตร ตัวอาคารออกแบบเป็นรูปทรงลูกเต๋า ศูนย์นิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำลองระบบนิเวศวิทยามาให้ผู้ชมได้เห็นจริง ศูนย์เทคโนโลยีอากาศยานและศูนย์ต่าง ๆ อีกมากมาย
วัดชินวราราม เป็นอีกวัดหนึ่งที่เก่าแก่และเป็นพระอารามหลวงชั้นโทวรวิหาร เดิมชื่อวัด "มะขามใต้" ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องปากคลองรังสิตไปทางเหนือเล็กน้อย บริเวณรอบพระอารามกว้างขวางในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม พร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับพระเจ้าสิบชาติ
วัดไผ่ล้อม เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอสามโคก เป็นสถานที่ที่ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีนกปากห่างจำนวนมากที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้ในบริเวณวัด
เทศกาลและประเพณี
ช่วงเดือนเมษายน งานประเพณีในช่วงสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะเรียกว่า "เปิงสงกรานต์" จะจัดงานกันจำนวน 7 วัน มีประเพณีต่าง ๆ มากมาย อาทิ เย็บธงตะขาบ ทำข้าวแช่ ขบวนแห่หางหงส์ และธงตะขาบ ประเพณี "ออกฮ้อยปะจุ๊" ก่อพระทราย ปล่อยนกปล่อยปลา การเล่นสะบ้า เดือนเมษายน-พฤษภาคม ประเพณีการทำขวัญข้าว การแข่งจุดลูกหนู เดือนตุลาคม ประเพณีกวนข้าวทิพย์ ที่วัดจันทน์กะพ้อ หมู่บ้านตากแดดเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ประเพณีการรำพาข้าวสาร ทะแยมอญ มอญครั่ง การตักบาตรพระร้อย
สินค้าพื้นเมือง
ปทุมธานี เป็นพื้นที่ในเขตปริมณฑล อยู่ใกล้ชิดกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง ประชากรจึงมีวิถีชีวิต คล้ายกัน มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมบ้างในบางพื้นที่ ผลผลิตทางเกษตรที่ขึ้นชื่อ คือ ส้มเขียวหวาน และน้ำตาลสด นอกจากนี้ ยังมีชื่อในเรื่องของอาหารโดยเฉพาะที่ปรุงจากกุ้งแม่น้ำตัวโต ๆ และก๋วยเตี๋ยวเรือรสอร่อย
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิดาภา ประมวลทรัพย์, เบญจมาภรณ์ บำราพรักษ์, อังคณา ปาละสุทธิกุล
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร. 693 7835-8, 01-817 7153, 01-613-8426, 01-613 1496 (ยังมีต่อ)
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit