กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กระทรวงเกษตรฯ
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำระบบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออก สินค้าเกษตร เพื่อที่จะนำรายได้มาเติมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เผยอาจมีการต่อต้านแต่ยืนยันว่ามีความ จำเป็นต้องดำเนินการ
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดภาวะสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิ กุ้งกุลาดำ เพื่อพิจารณานำระบบการเรียกเก็บค่าพรีเมี่ยมจากผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงที่เศรษฐกิจดี เคยมีการเรียกเก็บค่าพรีเมี่ยมจากการส่งออกข้าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศนำกลับมาใช้ใหม่กับการส่งออก สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ซึ่งต้องรอผลการศึกษาก่อนว่าจะนำมาใช้กับสินค้าเกษตรในรายการใดได้บ้าง
เหตุผลที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องนำระบบการจัดเก็บค่าพรีเมี่ยมขึ้นมาใช้ใหม่ เนื่องจากขณะนี้และในอนาคตกระทรวงเกษตรฯ มีความจำเป็นต้องหาเงินเข้ามาเติมในกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จากเดิมที่แหล่งในกองทุนดังกล่าวได้มาจากการเรียกเก็บค่าพรีเมี่ยมการส่งออกข้าว ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้จัดเก็บ แต่ปรากฏว่าตอนหลังได้มีการยกเลิก ทำให้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรประสบปัญหาในกรณีที่ราคาสินค้าเกษตรเกิดตกต่ำและกองทุนไม่มีเงินไปใช้ในการแทรกแซงพยุงราคาสินค้าเกษตรได้ โดยการดำเนินการเรียกเก็บค่า พรีเมี่ยมสินค้าเกษตรเพื่อหาเงินมาเติมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนี้ สามารถดำเนินการได้เลยเพราะเป็นอำนาจตามกฎหมาย โดยจะทำในลักษณะเดียวกันกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางไปจำหน่ายยังต่างประเทศที่ดำเนินการจัดเก็บกับผู้ส่งออกอยู่ในขณะนี้ที่เรียกกันว่าการจัดเก็บค่าเชส ที่กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเป็นผู้จัดเก็บเพื่อเอาไปใช้ในการส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นยางเก่าปลูกยางใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าการนำระบบการเรียกเก็บค่าพรีเมี่ยมมาใช้ใหม่นี้จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอย่างหนักแน่นอน แต่หากมองดูเหตุผลความจำเป็น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ที่ผ่านมาในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี ไม่มีการเรียกเก็บเงินมาเติมในกองทุนฯ แต่กลับจะมีการใช้ ซึ่งการให้เกษตรกรกู้ยืมเงินกองทุนก็ได้คืนบ้างไม่ได้คืนบ้าง แต่หากถามว่ากลไกการช่วยเหลือเกษตรกรโดยผ่านกองทุนได้ผลหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยุงแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้มาก เช่น เมื่อปีที่ผ่านมาก็เอาเงินจากกองทุนฯ ไปใช้ในการพยุงราคาน้ำมันดิบล้นตลาด หรือกรณี การให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้ยืมไปกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับสถานะของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรขณะนี้มีเงินหมุนเวียนอยู่ทั้งระบบทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท มีเงินปลอดภาระผูกพัน 1,333 พันล้านบาท ลูกหนี้ของกองทุนส่วนใหญ่คือกระทรวงเกษตรฯ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยทั้งสองหน่วยงานยืมเงินกองทุนเพื่อไปใช้ในการจัดหาปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา--จบ--
-สส-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit