มหาวิทยาลัยสุรนารีประสบความสำเร็จในการวิจัยนำกระดูกสัตว์มาผลิตเป็นสารทดแทนกระดูกมนุษย์

06 Sep 2000

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--มทส.

รศ.ดร.จรัสศรี ลอประยูร รองคณบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า นักวิจัย มทส.ประสบความสำเร็จในการวิจัยเพื่อขณะนี้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สนใจที่จะนำไปพัฒนาต่อเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์แล้ว รศ.ดร.จรัสศรีกล่าวว่า เดิมนั้นการเปลี่ยนถ่ายหรือทดแทนกระดูกให้กับผู้สูญเสียกระดูกนั้นจะนำวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาใช้ หรือไม่ก็นำกระดูกส่วนอื่นของคนไข้หรือไม่ก็กระดูกผู้ที่เสียชีวิตจากคลังกระดูกมาใช้ แต่ก็มีปัญหาสองประการคือ

1.ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

2.มีปัญหาการติดเชื้อได้ง่ายเพราะเป็นกระดูกสด

ทาง มทส.จึงพยายามศึกษาหาความเป็นไปได้ในการที่จะเอากระดูกสัตว์มาใช้แทน โดยได้ให้ความสนใจในเรื่องการนำกระดูกวัว-ควายมาใช้เพราะเห็นว่ามีปริมาณมาก ราคาถูก เมื่อนำมาศึกษาโดยผ่านกระบวนการเซรามิกและศึกษาคุณสมบัติที่จะได้สารทดแทนกระดูกที่มีคุณสมบัติตามต้องการ มีความหนาแน่นและแข็งแรงพอ พบว่าสารไฮดรอกซีแอสปาไทต์จากกระดูกวัว-ควาย มีคุณสมบัติดี แม้จะมีมลทินบ้างแต่ก็เป็นที่ยอมรับได้ มีสภาพความพรุนคล้ายกระดูกคน "คณะวิจัยได้ให้ความสนใจผลิตกระดูกชนิดพรุนก่อนเพราะสามารถใช้งานในส่วนไม่รับน้ำหนักเท่านั้น ซึ่งต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการเพื่อร่างกายจะตอบรับได้ดี ไม่ก่อมลพิษต่อร่างกาย เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล การศึกษาครั้งนี้ยังทำให้พบด้วยว่า สามารถนำน้ำผง กระดูกป่นจากโรงฆ่าสัตว์ มาสกัดเป็นสารแคลเซียมฟอสเฟตเพื่อเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตวัสดุทดแทนกระดูกได้ด้วย โดยมี ดร.สุพรรณี ปทุมารักษ์ เป็นผู้ร่วมวิจัยและเอ็มเทคจะประสานต่อ จะพัฒนาวิธีการผลิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบผง เม็ด แท่ง เพื่อให้ได้สารทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกระดูกมนุษย์มากที่สุดจะได้นำไปใช้เป็นตัวเติมทางด้านศัลยกรรมกระดูกใบหน้า ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ในระหว่างทดสอบวัสดุศาสตร์และชีวภาพ ก่อนผลิตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" รศ.ดร.จรัสศรีกล่าว--จบ--

-สส-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit