กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ปตท..
ที่อาคารสำนักงานใหญ่ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มีพิธีมอบรางวัล "ลูกโลกสีเขียว" ครั้งที่ 2 ประจำปี 2543 โดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสินโครงการฯ ซึ่งจัดโดย ปตท. ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เครือข่ายเฝ้าระวังป่า-ไทย โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้ที่บำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อสังคมในด้านการสร้างสรรค์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเป็นการเปิดเวทีส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาแนวคิดและแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ โดยการประกวดแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคล ชุมชน เยาวชนและงานเขียนและมีผู้ชนะการประกวดดังนี้
ประเภทบุคคล รางวัลดีเด่นเงินรางวัล 200,000 บาท ได้แก่ พระครูมานัสนทีพิทักษ์ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจในการรักษาป่าไม้และแม่น้ำมาตลอด และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ "กลุ่มฮักป่าแม่ใจ" และใช้กุศโลบาย "บวชป่า" ในการชักชวนให้ชาวบ้านดูแลไม่ตัดไม้ทำลายป่า จนส่งผลให้พระครูได้รับรางวัลต่างๆ มากมายอาทิ "คนดีศรีสังคม" และ "บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาภูมิปัญญาชาวบ้าน"
ประเภทชุมชน รางวัลดีเด่น 2 รางวัลๆ ละ 300,000 บาท ได้แก่ 1.กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองคราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสานความร่วมมือกับเครือข่าย 13 ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีในการอนุรักษ์ป่ารวมพื้นที่ 25,000 ไร่ ส่งผลให้ป่าคลองครามในปัจจุบันอุดมด้วยไม้ขนาดใหญ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ ไม้ตะเคียนชนิดต่างๆ ไม้ตระกูลยาง โดยป่าที่ได้รับการดูแลนี้ล้วนมีความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้นกลุ่มยังได้จัดกิจกรรมที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงการอนุรักษ์ป่ากับวิถีชีวิตในมิติอื่นๆ ของชุมชนทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและสวัสดิการสังคม
2. กลุ่มป่าชุมชนดงนาทาม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเกิดจากชุมชนเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านในการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับป่า โดยใช้หลักการหาอยู่หากินจากป่า และได้ริเริ่มจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนเพื่อดูแลรักษาป่าและได้ขยายเครือข่ายอย่างกว้างขวาง จนปัจจุบันครอบคลุม 21 หมู่บ้าน สามารถประสบความสำเร็จในการรักษาป่า ส่งผลให้การตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่าลดน้อยลง และชาวบ้านมีรายได้จากผลผลิตจากป่าประมาณ 7,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นต้น
ประเภทกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นรางวัลใหม่ รางวัลดีเด่น เงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ กลุ่มรักษ์ดอยอินท์ จังหวัดลำพูน ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพลังของเยาวชนคือภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของชุมชน โดยกลุ่มได้อาสาสมัครทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่ดำเนินการได้แก่ การจัดค่ายเรียนรู้ระบบนิเวศป่า การดำรงชีวิตในป่า การฝึกการดับไฟป่า การร่วมกิจกรรมปลูกป่า ซึ่งทุกกิจกรรมเน้นการลงมือปฏิบัติด้วยเยาวชนเอง และในปี พ.ศ. 2540 ได้ขยายการดำเนินการเชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตของชุมชนโดยเน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จนสามารถกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกชุมชนให้เห็นความสำคัญได้อย่างชัดเจนประเภท งานเขียน ไม่มีผลงานได้รับรางวัลนอกจากรางวัลดีเด่นแล้ว ในแต่ละประเภท ยังมีรางวัลที่สมควรได้รับการยกย่องอีก 7 รางวัล เป็นเงินรางวัลอีก 550,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 1,450,000 บาท ทั้งนี้ แม้โครงการ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" จะเป็นโครงการใหม่ ทว่านับได้ว่าได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางและประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้ส่งผลงานจากทุกภาค ทั่วประเทศจำนวนมากและได้รับการคัดเลือกรางวัลกระจายกันในทุกภาค ที่สำคัญคือนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ตัวอย่างของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งล้วนแล้วเป็นผู้เสียสละเหล่านี้ได้ปรากฎสู่สายตาสาธารณชน ซึ่ง ปตท.จะร่วมมือกับประชาชนในการค้นหาบุคคลและชุมชนผู้ควรค่าแก่การยกย่องนี้และให้การสนับสนุนเงินรางวัลเพื่อใช้เป็นทุนในการทำงานด้านการอนุรักษ์ของพวกเขาต่อไปในโอกาสเดียวกันนี้ ฯพณฯ อานันท์ ยังได้เปิดงานสัมมนา "บทบาททรัพยากรป่าไม้กับการบรรเทาปัญหาความยากจน" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม เพื่อระดมความคิดเห็น ประสบการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชนสถาบันวิชาการ โดยคาดว่าจะสามารถรวบรวมองค์ความรู้ในการจัดการป่าเพื่อบรรเทาปัญหาและร่วมหาแนวทางการพัฒนา สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการป่าไม้ที่เข้มแข็งได้ยิ่งขึ้น--จบ--
-สส-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit