ปตท. ลงนามซื้อขายก๊าซฯ กับโรงไฟฟ้าราชบุรี

01 Nov 2000

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ปตท..

วันนี้ (27 ตุลาคม 2543) เวลา 18.30 น. ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทรัลแกรนด์ พลาซ่า ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ฯพณฯ สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ 2 ฉบับ ระหว่างนายวิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะผู้ขาย และนายวิทยา คชรักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายบุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ในฐานะผู้ซื้อสำหรับสาระสำคัญของสัญญาฉบับแรก คือ สัญญาระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. หรือสัญญาแม่บท (Ratchaburi Master Gas Sales Agreement : RMGSA) โดย กฟผ. จะเป็นผู้รับประกันการรับก๊าซฯ ขั้นต่ำ (Minimum Take Liability) สำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรี ทั้งนี้ กรณีโรงไฟฟ้าราชบุรีไม่สามารถรับก๊าซฯ ได้ตามปริมาณกำหนด กฟผ. สามารถเลือกนำก๊าซไปใช้ที่โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าของบริษัท ไตรเอนเนอร์ยีและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ได้ส่วนสัญญาฉบับที่สองระหว่าง ปตท. กับ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี เป็นสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) มีระยะเวลา 25 ปี ระบุถึงโครงสร้างราคา ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนเนื้อก๊าซ รวมค่าตอบแทนในการจัดหาและจำหน่ายและค่าผ่านท่อ รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพก๊าซฯสัญญาดังกล่าวนี้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับสัญญาของโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) และมีราคาเงื่อนไขที่สอดคล้องกับมติ ครม. ที่ให้นโยบายไว้เมื่อ 29 พ.ย. 2537 คือ ได้นำเงื่อนไขหลักของสัญญายาดานามายกร่าง โดยมุ่งประโยชน์ต่อประเทศเป็นสำคัญ และก่อนหน้านี้ระหว่างที่ยังไม่มีการลงนาม ปตท. และ กฟผ. ได้ใช้ข้อตกลงตามบันทึกที่ได้ทำร่วมกันเมื่อปี 2541โครงการโรงไฟฟ้าราชบุรีประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 เครื่อง กำลังการผลิตเครื่องละ 735 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 ชุด กำลังการผลิตชุดละ 725 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ โรงไฟฟ้าราชบุรีจะมีกำลังการผลิตทั้งหมด 3,645 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อนึ่ง ปัจจุบัน ปตท.ได้จัดส่งก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่าเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วในอัตราวันละ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยส่งให้โรงไฟฟ้าราชบุรีวันละประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตและส่งให้โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ของบริษัท ไตรเอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ในจังหวัดราชบุรี วันละประมาณ 140 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยได้จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ปตท. ได้ดำเนินการก่อสร้างท่อก๊าซฯ ราชบุรี-วังน้อยซึ่งขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ ในฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของประเทศเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่าให้แก่โรงไฟฟ้าวังน้อยของ กฟผ. ได้อีกทางหนึ่ง นับเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศได้เป็นอย่างดี และขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระ Take-Or-Pay ได้อีกด้วย--จบ--

-สส-