ผู้ว่าฯกทม.เป็นประธานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐาน ณ วัดไก่เตี้ย

14 Nov 2000

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กทม.

ที่วัดไก่เตี้ย เมื่อวานนี้ 13 พ.ย.43 เวลา 11.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นประดิษฐาน ณ วัดไก่เตี้ย เนื่องในงานประเพณีชักพระ โดยมี ร.ท.อิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน กทม.กล่าวรายงานว่า งานประเพณีชักพระ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยท่านพระยาโชฏึกราชาเศรษฐี ร่วมกับสมเด็จพระรูปศิริภาคย์มหานาคนารี ซึ่งเป็นพระสัสสุรัชกาลที่ 1 ได้ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนางชี ซึ่งเป็นวัดร้างสร้างมาแต่สมัยพระชัยราชาธิราชกษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณปีพ.ศ.2082 และในการบูรณะปฏิสังขรณ์ก็พบว่ามีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่จึงถือเป็นนิมิตรดี และต้องการที่จะให้ชาวบ้านในบริเวณวัดนางชี และใกล้เคียงได้มีโอกาสชื่นชมและสักการะพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้มีการถวายการสรงน้ำและทำพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุไปตามคลองเอกชัยออกคลองบางกอกน้อย พอใกล้เวลาเพลก็มาถึงวัดไก่เตี้ย หยุดให้พระภิกษุ สามเณร ที่ไปกับขบวนได้ฉันภัตตาหาร แล้วเสร็จก็เคลื่อนขบวนออกไปตามลำน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองบางหลวงวกเข้าคลองเอกชัยมาหยุดและอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ ที่เดิม วัดนางชี ทำให้เกิดเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันตั้งแต่นั้นมาทุกปี คือ วันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 จนปัจจุบันนับเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว

การแห่พระบรมสารีริกธาตุเสด็จโดยทางน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “งานชักพระ” ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะชาวฝั่งธนบุรีที่ได้ถือปฏิบัติกันมาช้านานและคลองที่องค์พระธาตุเสด็จผ่านระหว่างสี่แยกคลองมอญจนถึงวัดไก่เตี้ย จนมีการขนานนามว่า “คลองชักพระ” และทำให้เกิดตำบลหนึ่งเรียกว่า “ตำบลคลองชักพระ” ในเขตตลิ่งชันตั้งแต่นั้นมา

งานประเพณีชักพระ จึงควรที่จะได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นในการเผยแพร่ประเพณีนี้ซึ่งมีการแห่เรือขบวนเรือบุปผาชาติ ขบวนเรือการละเล่นต่าง ๆ กระผมและพี่น้องประชาชนชาวตลิ่งชันจึงอยากเสนอให้กรุงเทพมหานครบรรจุลงเป็นประเพณีประจำปีในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และหากเป็นไปได้ควรจะตรงกับวันหยุด เพื่อให้ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้มีโอกาสชมขบวนแห่ดังกล่าว ซึ่งจะมีผลต่อการส่งเสริมรายได้ในเรื่องของการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนทราบว่างานดังกล่าว เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันติดต่อมากว่า 100 ปี และได้ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันทุกปี คือ วันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 หากผู้อำนวยการเขต ชาวตลิ่งชัน คณะผู้จัดงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความประสงค์เลื่อนการจัดงานวันดังกล่าวให้มาตรงกับวันหยุด จะลดความขลังไปอย่างไรหรือไม่ เพราะตนคิดว่าพิธีนั้นอยู่ที่ความตั้งใจมากกว่า สำหรับการจัดงานฯ ในวันนี้ที่ตรงกับวันจันทร์ ก็มีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก แสดงว่ามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ส่งผลให้งานประเพณีชักพระมีความหมายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี หากต้องการจัดงานดังกล่าวตรงกับวันหยุด ตนเชื่อว่าประชาชนจะมาในงานด้วยความศรัทธาจำนวนมากเช่นกัน--จบ--

-นศ-