ฮอนด้า (ประเทศไทย) เสนอวิธีรักษาพรมในรถยนต์

31 Jul 2000

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย)

สำหรับท่านเจ้าของรถทุกท่านคงจะไม่มีใครปฏิเสธว่า การดูแลรักษาเครื่องยนต์และการทำความสะอาดรถเป็นประจำนั้น มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย คอลัมน์ "รอบรู้เรื่องรถ" ฉบับนี้จะขอแนะนำวิธีการรักษาพรมในรถยนต์ด้วยตัวท่านเอง ซึ่งทำได้ไม่ยากนัก พรมภายในรถยนต์ นอกจากจะช่วยปกปิดความแข็งกระด้างของโลหะตัวถังพื้นรถแล้ว ยังช่วยเพิ่มความนุ่มนวลจากการสัมผัส ตลอดทั้งช่วยเสริมให้รถดูภูมิฐานสมราคา ไม่เพียงเท่านั้น พรมยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ ซึ่งสามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้ดังนี้

ฉนวนป้องกันความร้อน ในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานจะมีความร้อนจากเครื่องยนต์ส่งผ่านไปยัง ท่อไอเสียที่ติดตั้งอยู่ใต้พื้นรถ นอกจากนั้นในเวลากลางวันผิวถนนที่ถูกแสงแดดเผาจะมีความร้อนสูงมาก เมื่อรถแล่นไปเหนือผิวถนนก็จะรับเอาความร้อนเข้ามาทางพื้นห้องโดยสาร ซึ่งพรมจะช่วยป้องกันความร้อนได้ระดับหนึ่ง ช่วยควบคุมอุณหภูมิในห้องโดยสารให้คงที่ เนื้อพรมที่มีขนฟูสูงแต่ไม่ควบแน่น จะมีช่องอากาศอยู่ในตัวทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อมความร้อน และไม่ยอมให้ความร้อนผ่าน จากคุณสมบัติเหล่านี้ พรมจึงเป็นตัวช่วยควบคุมอุณหภูมิในห้องโดยสารให้คงที่ ซึ่งจะช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ ช่วยซับเสียงรบกวนจากภายนอกเนื้อพรมที่มีลักษณะนุ่มหนา ทำให้มีคุณสมบัติในการกั้นหรือต้านเสียงที่เกิดจากภายนอกห้องโดยสาร เช่น เสียงยางที่บดไปบนพื้นถนน เสียงเครื่องยนต์และเสียงรบกวนอื่นๆ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับความเพลิดเพลินในการใช้รถ การดูแลรักษาพรมในรถด้วยตัวท่านเอง สามารถทำได้ดังนี้

ขณะที่ท่านก้าวขึ้นรถ ควรขจัดสิ่งสกปรก เช่น โคลน ทราย กรวด หรือหินที่ติดมากับรองเท้าให้ร่วงหลุดไปบนพื้นถนนก่อนที่จะก้าวขึ้นรถ ควรปัดหรือดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ซึ่งถ้าหากเจ้าของรถไม่สะดวกที่จะทำเองก็สามารถใช้บริการนี้ได้จากสถานีบริการทั่วๆ ไป ใช้แผ่นยางซึ่งมีขายอยู่ทั่วๆ ไปปูทับบนพื้นพรมบริเวณที่มักจะถูกรองเท้าสัมผัสบ่อยๆ เพื่อเป็นตัวรองรับกรวดทรายหรือขี้ฝุ่น ซึ่งพรมรองเท้าหรือแผ่นยางนี้จะสามารถนำออกมาทำความสะอาดได้โดยสะอาด อย่างไรก็ตาม ความสกปรกบนพื้นพรมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ วิธีทำความสะอาดก็จะแตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุแห่งความสกปรกที่อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีต่างๆ ดังนี้

ถ้าพรมเปียกน้ำเพียงเล็กน้อย ให้นำผ้าหรือกระดาษทิชชูมาซับน้ำออกนำรถมาจอดไว้กลางแดด โดยเปิดกระจกทิ้งไว้ ความร้อนจะช่วยทำให้พรมแห้งแต่ในกรณีที่น้ำเปียกพรมมาก ควรถอดเบาะนั่งออกก่อน หลังจากนั้นจึงถอดพรมออกมาซักแล้วผึ่งแดดจัดๆ เหมือนการตากผ้าทั่วไปเพียงแต่อาจต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2 วัน หรือจนกว่าพรมจะแห้งสนิทจึงนำเข้าที่ตามเดิม ซึ่งหากท่านไม่สามารถถอดอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วยตนเอง วิธีที่ดีที่สุด คือนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อให้ช่างที่ชำนาญถอดพรมออกซัก พรมเปื้อนโคลนหรืออาเจียนการทำความสะอาดที่ถูกวิธี ควรใช้อุปกรณ์ตักเซาะเอาเศษความสกปรกออก หลังจากนั้นใช้ผ้าแห้งที่สะอาด หรือกระดาษซับความเปียกชื้นออกไปจนหมาด ควรเช็ดจากวงนอกเข้าไปกลางจุดที่เปื้อน เพื่อป้องกันความสกปรกขยายวงกว้างออกไป ถ้าความสกปรกยังไม่หมดไปใข้แชมพูซักพรมฉีดบริเวณนั้น หากภายในรถของท่านยังมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ติดอยู่ ควรนำรถไปจอดกลางแดดที่ร้อนจัดปิดกระจกทุกบานไว้ประมาณ 2-5 ชั่วโม จึงค่อยเปิดประตูรถให้ลมพัดผ่าน ความร้อนจากแสงแดดจะช่วยทำลายกลิ่นให้จางลงหรือหมดไป หากยังไม่หายสนิทก็ทำซ้ำเช่นนี้อีกจนกว่ากลิ่นจะจางลงไป หมากฝรั่งติดพรม การขูดเซาะออกขณะที่หมากฝรั่งอ่อนตัวทำได้ยาก เนื่องจากหมากฝรั่งจะเหนียวทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อพรมได้ และถ้าไม่ระวังหมากฝรั่งอาจจะเลอะเทอะกระจายเพิ่มขึ้น วิธีที่พึงปฏิบัติคือใช้ก้อนน้ำแข็งมาประคบที่หมากฝรั่งให้เย็นจนแข็งตัว จากนั้นก็ใช้ช้อนขูดออก จะทำให้หมากฝรั่งขูดออกได้ง่ายขึ้น พรมเปื้อนสารเคมี ในกรณีที่พรมเปื้อนสารเคมีที่เกิดจากน้ำยาทาเล็บ น้ำมันเครื่องหรือไขจารบี การซักด้วยน้ำเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่สามารถล้างคราบของสารเคมีออกได้หมด เพราะจะมีความมันติดหลงเหลืออยู่ ควรใช้แขมพูสำหรับซักพรม โดยเฉพาะมาทำการล้างออกทันทีก่อนที่สารเคมีเหล่านี้จะจับนานซึ่งอาจจะทำให้ล้างออกยาก ถ้าเราต้องการให้พรมอยู่คู่กับรถเราไปนานๆ ควรหมั่นทำความสะอาดและดูแลพรมเป็นประจำ หากท่านมีข้อสงสัยประการใด เกี่ยวกับเรื่องของพรมปูพื้นในรถยนต์ฮอนด้า สามารถสอบถามได้จาก เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการทุกแห่งซึ่งพร้อมที่จะตอบข้อซักถามและให้คำแนะนำแก่ท่าน

ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศหรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: 2754/1 ซอยสุขุมวิท 66/1 ถนนสุขุมวิท แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพ 10260 โทร : (662) 744-7744 (662) 744-7755 แฟกซ์ : (662) 744-7715-17--จบ--

-สส-