กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
ในประเทศไทย ความชุกของโรคเบาหวานพบได้ร้อยละ 4 และในประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปพบถึงร้อยละ 13 ภาวะโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบบ่อยมากในผู้ป่วยโรคเบาหวานเช่นกัน ผู้ป่วยที่เป็นทั้งสองโรคควรพบแพทย์ตรวจอาการอย่างสม่ำเสมอ และจะต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อันตรายได้
น.พ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลราชวิถี และกรรมการวิชาการ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย กล่าวว่า "โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction - ED) พบได้บ่อยมากในผู้ป่วยเบาหวาน จากการศึกษาทางคลินิกผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 150 คน ในปีที่ผ่านมา พบความชุกของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชาย ถึงร้อยละ 25 โรคเบาหวานและโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีความสัมพันธ์กัน บางรายตรวจพบโรคหย่อนสมรรถทางเพศก่อนจึงรู้ว่าเป็นโรคเบาหวาน บางรายมาตรวจโรคเบาหวานและพบอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย ทั้งนี้ เพราะต่างก็เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหลอดเลือด"
สาเหตุของโรคอีดี ในผู้ป่วยเบาหวานมักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ได้แก่ โรคทางหลอดเลือด (vascular disease) ความผิดปกติทางเส้นประสาท (neuropathy) ความผิดปกติทางฮอร์โมนเพศชาย (hypogonadism) การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาหาร ปัจจัยด้านจิตใจ และยาที่ใช้รักษาใน ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง
น.พ. ชัยชาญ กล่าวเสริมว่า "โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทเสื่อมและหลอดเลือดเสื่อม และเรื่องของจิตใจอันเป็นผลมาจากความเครียดที่ต้องควบคุมอาหารและยา ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเนื่องจากสาเหตุด้านร่างกาย แพทย์จะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ป่วยกำลังมีโรคแทรกซ้อนด้านประสาทและหลอดเลือดพอสมควรแล้ว และมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ หลอดเลือดสมอง ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอันเนื่องจากสาเหตุด้านจิตใจ แพทย์สามารถรักษาตามปกติเหมือนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นตัวบ่งชี้ว่าคนนั้นจะมีโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหรือไม่ และเป็นในระดับไหน"
ยารักษาโรคเบาหวาน ไม่มีผลข้างเคียงต่อยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามระดับของความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีโรคแทรกซ้อน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องให้ข้อมูลอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น แก่แพทย์ที่ให้การรักษาอย่างละเอียด เพื่อให้การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วยเช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต หรือ อาการเส้นประสาทเสื่อม โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานทำได้โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับระดับปกติที่สุด งดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ เช่น น้ำอัดลม น้ำตาล และผลไม้บางชนิด อาหารที่ทานได้ไม่จำกัด คือ ผักใบเขียว นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด การออกกำลังกายเป็นประจำ และการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
"สำหรับการดูแลรักษาตัวเองเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนบางอย่าง ทำได้โดยการตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่มีโรคแทรกทางไต สามารถทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้เหมือนคนปกติ ถ้ามีโรคแทรกทางไต ควรทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือโปรตีนให้น้อยลง เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักและเสื่อมเร็วขึ้น" น.พ. ชัยชาญ อธิบายคนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น เพราะรับวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้ามามากมาย วิถีชีวิตของคนไทยจึงเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องของอาหารและการทำงาน ซึ่งพบว่า คนไทยอ้วนมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง มีความเครียดสูง ผู้ที่อายุมาก มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าผู้ที่อายุน้อย ปัจจุบันมีข้อมูลการวิจัยใหม่ๆ ในต่างประเทศ พบว่า อาหารมันทำให้เป็นโรคเบาหวานมากกว่าอาหารหวาน และหากเป็นโรคอ้วนแล้วก็จะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นตามไปด้วย
สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อขอรับเอกสาร หรือคำปรึกษาได้ฟรี ที่ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย โทรศัพท์ ฮอตไลน์ 635 1001 หรือตู้ ป.ณ. 2513 กรุงเทพฯ 10501 หรือ โทรสาร 656 8455 หรือเว็บไซต์ http://menhealth.pfizer.co.th โดยจดหมายหรือคำถามที่ส่งเข้ามา ศูนย์ข้อมูลฯ จะเก็บไว้เป็นความลับ
เผยแพร่โดย ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย
ผ่าน บริษัท แชนด์วิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล โทร. 257 0300--จบ--
-อน-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit