หมอหัวใจพบว่าโรคอีดีอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุเป็นโรคหัวใจ

02 Feb 2000

กรุงเทพ--2 ก.พ.--ศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย

แพทย์โรคหัวใจเตือนผู้ชายที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือโรคอีดี (erectile dysfunction - ED) ให้ปรึกษาแพทย์ เพราะรายงานวิจัยทางคลินิกล่าสุดของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงการเป็นโรคหัวใจได้

"โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ (Heart Attack) เส้นเลือดสมองตีบ (Stroke) นั้น ปัจจุบันอัตราการพบในประเทศไทยพบสูงขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉพาะโรคหัวใจได้กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศ) ดังนั้น อาการใดๆ ที่จะเป็นข้อชี้บ่งของการเกิดโรคนี้ คงจะเป็นประโยชน์ในการนำไปสู่การตรวจค้นหาภาวะเส้นเลือดตีบ" พลตรี นพ. ประวิชช์ ตันประเสริฐ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย และประธานศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย กล่าว

"ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย นับว่าเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันรักษาโรคเส้นเลือดตีบที่มีอันตรายได้ และประการสำคัญ หากพบแพทย์โดยเร็วจะสามารถรักษาให้หายได้ง่ายและเป็นการป้องกันการลุกลามและผลตามมาที่มีอันตรายได้"

จากข้อมูลที่ว่า โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศและโรคหัวใจเป็นโรคที่พบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศโดยสิ้นเชิงในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจสูงถึงร้อยละ 39 ขณะที่ กลุ่มประชากรทั่วไปพบเพียงร้อยละ 9.6 ซึ่งจะเห็นว่า โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีความเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจอย่างชัดเจน

พลตรี นพ. ประวิชช์ กล่าวต่อไปว่า สมมติฐานที่ว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงการเป็นโรคหัวใจนั้น ได้รับการสนับสนุนจากรายงานของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ จากการศึกษาผู้ป่วยโดย นพ. มาร์ค อาร์ พริตซ์เกอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ มูลนิธิสถาบันโรคหัวใจแห่งรัฐมินนิอาโปลิส สรุปว่า "โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "penile stress test" อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งในการตรวจหาความผิดปกติของเส้นเลือดแบบเดียวกับการทดสอบผลกระทบจากการออกกำลังกาย (exercise stress test) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ตรวจสอบสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจ แล้วนำไปตรวจสอบหาเส้นเลือดที่มีปัญหาในหัวใจ"

นพ. มาร์ค อาร์ พริตซ์เกอร์ อธิบายต่อว่า "ขณะนี้เราค้นพบแล้วว่า เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) ในเส้นเลือดจำนวนหนึ่ง จะมีความเป็นไปได้สูงที่เส้นเลือดในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ในหัวใจ สมอง หรือไต จะเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวด้วย เนื่องจากเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงอวัยวะเพศชายมีขนาดเล็กกว่าเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้น ภาวะหลอดเลือดแข็งตัวอาจปรากฎในรูปของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) ก่อนที่มันจะปรากฎในหลอดเลือดบริเวณอื่นๆ ต่อไป การค้นพบนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะนำไปสู่การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจหรือเส้นโลหิตในสมองแตก"

นพ. มาร์ค อาร์ พริตซ์เกอร์ กล่าวเสริมว่า ร้อยละ 30 ถึง 50 ของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีผลมาจากเส้นเลือดมีปัญหา ส่วนสาเหตุอื่นๆ นั้น ได้แก่ การรับประทานยารักษาโรคหัวใจหรือโรคความดันโลหิตสูง การบาดเจ็บที่อวัยวะเพศ การเป็นโรคซึมเศร้า การติดยา หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความเสื่อมของอวัยวะ เช่น การแข็งตัวของเนื้อเยื่อหลายส่วน (multiple sclerosis) หรือแม้แต่ความอ่อนเพลีย หรือความเครียด นอกจากนี้ ปัจจัยด้านจิตใจก็อาจทำให้เกิดอาการนี้ได้

"จากรายงานการใช้ยาไวอากร้าจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ยานี้มีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจชนิดต่างๆ หากผู้ป่วยนั้นๆ ได้รับการดูแลให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาไวอากร้าควบคู่กับยาประเภทไนโตรกลีเซอริน หรือยาที่มีคุณสมบัติคล้ายไนโตรกลีเซอริน และออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์" นพ. มาร์ค กล่าว

พลตรี นพ. ประวิชช์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาอย่างเป็นทางการด้านระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินปัสสาวะ (Erectile Dysfunction Advisory Council & Training of Thailand - EDACTT) และบริษัทไฟเซอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ในเดือนธันวาคม ปี 2541 พบว่าชายไทยอายุตั้งแต่ 40-70 ปี ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 3 ล้านคน มีอาการของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คิดเป็นจำนวนเกือบร้อยละ 40 ของชายไทยทั้งหมดในกลุ่มอายุดังกล่าว โดยในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ที่ได้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา

"ผู้ที่มีอาการของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ควรไปปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพราะว่าในหลายๆ กรณีมีสาเหตุเนื่องมาจากอาการป่วย เช่น เบาหวาน หัวใจ และความดันโลหิตสูง การศึกษานี้เป็นการยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้" พลตรี นพ. ประวิชช์ กล่าว

จากความก้าวหน้าในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและแนะนำด้านโรคหัวใจ (Cardiology Advisory Board) ขึ้นในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2541 โดยมีจุดประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ และความรู้ในการรักษาโรคหย่อนสมรรถทางเพศในหมู่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังได้มีการวางแนวทางในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่เป็นโรคหัวใจด้วย

"การวางแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่เป็นโรคอีดี นับเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดมาตรฐานการรักษา ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมให้มีการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพด้วย" พลตรี นพ. ประวิชช์ สรุป

หากต้องการข้อมูลด้านโรคหัวใจ กรุณาดูได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ที่ http://www.thaiheart.org และเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย ที่ http://www.menhealth.pfizer.co.th-- จบ--