สพช. ดันโครงการคาร์พูลสู้น้ำมันแพง

11 Oct 1999

กรุงเทพ--11 ต.ค.--สพช.

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดันโครงการคาร์พูล สู้น้ำมันแพง จับมือ สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก และ กรุงเทพมหานคร จัดสัมมนาระดมหาแนวร่วม เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ คาร์พูล ขยายตัวสู่วงกว้าง

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เปิดเผยว่า ในภาวะที่ประเทศต้องประสบกับปัญหาน้ำมันมีราคาแพงในขณะนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริโภคจะต้องประหยัดการใช้น้ำมันให้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้รถยนต์ ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถปฏิบัติได้คือ คาร์พูล

คาร์พูล ถือเป็นหนึ่งในวิธีการประหยัดน้ำมัน เป็นนโยบายที่ สพช. ได้เริ่มรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2541 และดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการภายใต้โครงการ "รวมพลังหาร 2" โดยมีแนวคิดหลักเพื่อกระตุ้นให้เกิดการประหยัดน้ำมัน ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีรถยนต์ส่วนตัวที่เดินทางไปในทิศทางเดียวกันหันมาใช้รถร่วมกันในลักษณะคาร์พูล ซึ่งคาร์พูลนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวที่มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันเช่น บ้านใกล้กัน ที่ทำงานใกล้กัน และก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้รถระหว่างเวลาทำงานวิธีคาร์พูล ทำได้ง่าย ๆ เพียงหันมาใช้รถยนต์คันเดียวกันร่วมกันในการเดินทางโดยจะใช้รถของใครคนใดคนหนึ่งแล้วช่วยกันออกเงินค่าน้ำมัน หรืออาจผลัดเปลี่ยนรถกันในแต่ละวันก็ได้ ประโยชน์ที่ได้จากวิธีนี้ก็คือ เพียงสัปดาห์ละ 1 วันคุณจะสามารถประหยัดน้ำมันได้ถึง 20% แถมยังช่วยลดการสึกหรอของรถ ลดมลพิษในอากาศ ช่วยแก้ปัญหาที่จอดรถไม่พอ และที่สำคัญยังช่วยชาติประหยัดน้ำมันอีกด้วย

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีหลายองค์กรที่ให้ความสนใจและร่วมมืออย่างดี ปัจจุบันนี้มีองค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 7 องค์กรคือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ศูนย์บริหารการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย บริษัท สยาม ยี เอส แบตเตอรี่ จำกัด (โรงงานบางปู) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กลุ่มบริษัท เอส ซี แอสเสท (เครือชินวัตร) กระทรวงสาธารณสุข (ทุกกรม) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

สำหรับตัวเลขผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนั้น พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการคาร์พูลแล้วประมาณ 414 คน จากจำนวนคนทั้งหมด 4,070 คนขององค์กรนำร่อง 7 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งหมดและได้เริ่มดำเนินกิจกรรมแล้ว 217 คน คิดเป็นสัดส่วน 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

นอกจากนั้นยังมีองค์กรแนวร่วมอีกเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานเป็นองค์กรเป้าหมายอีกประมาณ 21 องค์กร รวมถึง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตในกรุงเทพฯ ด้วย

"กลยุทธ์ คาร์พูล น่าจะเป็นทางออกที่สู้น้ำมันราคาแพงในวันนี้ได้อย่างดี เพราะเป็นวิธีที่สามารถลดการใช้น้ำมันลงได้อย่างมาก" เลขาธิการ สพช. กล่าว โดย สพช. จะจัดให้มีการสัมมนา คาร์พูล กลยุทธ์สู้น้ำมันแพง ในวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความร่วมมือของหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แทนจากอีก 2 หน่วยงานเข้าร่วมสัมมนาด้วยคือ สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก และกรุงเทพมหานคร

ส่วนการเลือกใช้ค่าออกเทนให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์นั้น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ผิด ๆ ว่า ยิ่งเติมน้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงเท่าใดแล้วจะยิ่งทำให้เครื่องยนต์มีกำลังมากขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่พบว่า ผู้ใช้รถกว่า 75% ยังใช้น้ำมันค่าออกเทนสูงกว่าความต้องการของเครื่องยนต์ ซึ่งถ้าหากผู้ใช้รถยนต์แต่ละคันหันมาใช้ค่าออกเทนให้ถูกต้องตามความต้องการของเครื่องยนต์แล้ว จะช่วยประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายรวมกันได้มากกว่าปีละ 2,500 ล้านบาท

สพช. มีหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการผลิต และการใช้พลังงานของประเทศ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอในราคาที่เหมาะสม มีคุณภาพตามความต้องการของผู้ใช้ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยอีกด้วย--จบ--