กรุงเทพ--2 มิ.ย.--นิด้า
ผลการสำรวจโรคอีดีในชายไทยครั้งแรกของประเทศไทยพบชายอายุ 40-70 ปี ประมาณ 3 ล้านคน เป็นโรคอีดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สนใจหาวิธีรักษา
การศึกษาระบาดวิทยาของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (อีดี) ในชายไทย ทั่วประเทศ 1,250 คน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย พบว่า ประมาณร้อยละ 37.5 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามป่วยเป็นโรคอีดี คาดว่าชายไทยอายุระหว่าง 40-70 ปีทั่วประเทศประมาณกว่า 3 ล้านคน เป็นโรคอีดี หรือโดยในจำนวนนี้เป็นผู้ชายที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง 527, 120 คน ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยโรคอีดีจำนวนมาก ปรากฏว่า ผู้ป่วย 2 ใน 5 คน ไม่ยอมปรึกษาเรื่องนี้กับใคร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชายไทยยังกระอักกระอ่วนใจที่จะหาวิธีการรักษาโรคอีดี ซึ่งที่จริงแล้วเป็นโรคที่รักษาได้
การศึกษาระบาดวิทยาของโรคอีดีในชายครั้งแรกนี้ สำรวจโดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาควิชาสาขาประชากรและการพัฒนา คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (EDACTT - Erectile Dysfunction Advisory Council & Trainning Thailand) และบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2541 โดยทำการศึกษาในชายไทยอายุ 40-70 ปี หรือมีอายุเฉลี่ย 51 ปี ในเขตกรุงเทพฯและเขตเมืองใน 8 จังหวัด จาก 4 ภาค (ภาคละ 250 คน) ผลการศึกษาพบว่า ชายไทยอายุ 40-71 ปีขึ้นไป มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในระดับต่ำร้อยละ 19.1 ระดับปานกลาง ร้อยละ 13.7 และระดับรุนแรง ร้อยละ 4.7 โรคอีดี ในที่นี้ จะหมายถึงการที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือ แข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำหรืออย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคอีดี มีความสัมพันธ์กับโรคที่พบได้บ่อยๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องกับ พฤติกรรมเสี่ยง อย่างเช่น การสูบบุหรี่จัด และการดื่มสุราจัดอีกด้วย ผลการศึกษาพบว่า โรคผู้ชายเป็นกันมาก ได้แก่ คือ โรคกระเพาะอาหาร (ร้อยละ 16) โรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 13) โรคเบาหวาน (ร้อยละ 6) โรคหัวใจ (ร้อยละ 4.2) และโรคต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 1.4)
ผู้ชายเมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคหลายๆ โรค ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งส่งผลให้เป็นโรคอีดีด้วย ความสัมพันธ์อันนี้ปรากฏอย่างชัดเจนจากการศึกษา พบว่า ผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ทั้งสามโรค จะเป็นโรคอีดีร้อยเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ ผู้ชายที่มีอายุมากขึ้น ก็จะป่วยเป็นโรคอีดีจำนวนมากขึ้น พบว่า ผู้ชายอายุระหว่าง 40-49 ปี ป่วยเป็นโรคอีดีร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 46 ในผู้ชายอายุ 50-59 ปี และเพิ่มเป็นร้อยละ 73 ในผู้ชายอายุ 60-70 ปี ตัวเลขเหล่านี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่าผู้ที่เป็นโรคอีดีส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคทางกาย ซึ่งมักเป็นโรคที่เกิดกับผู้ชายสูงอายุ
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคอีดี รวมถึง การรับประทานยาเพื่อรักษาโรคประจำตัว การเจ็บป่วยทางจิต (โรคซึมเศร้า) การผ่าตัด และผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังและอุ้งเชิงกราน และพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งได้แก่ การสูบบุหรี่และดื่มเหล้าจัด
ข้อมูลสำคัญที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ ชายไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอีดีและวิธีการรักษาโรค ตัวอย่างเช่น ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าวิธีการรักษาโรคอีดีอันดับแรกคือ การออกกำลังกาย ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่าในกลุ่มชายไทยร้อยละ 40 ที่ป่วยเป็นโรคอีดี มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น (10 คน) ที่เคยหาวิธีการรักษา และจากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่าเกือบร้อยละ 41 คิดว่าจะไม่ปรึกษาหรือพูดคุยว่ากับใครเลยป่วยเป็นโรคนี้มีเพียงร้อยละ 22 ที่คิดว่าจะปรึกษาแพทย์ทั่วไป
รศ. น.พ. อภิชาติ กงกะนันทน์ ประธานกลุ่ม EDACTT และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงผลการศึกษาว่า "จำนวนตัวเลขชายไทยที่ป่วยเป็นโรคอีดีที่สูงมากที่ได้จากการศึกษาไม่ได้ทำให้แปลกใจแต่อย่างใด แต่ข้อมูลตัวเลขที่พบว่า 4 คนใน 10 คนของชายไทยอายุ 40-70 ปี ในเขตเมืองเป็นโรคอีดี แสดงให้เห็นว่าโรคอีดีเป็นโรคที่สำคัญ และพบได้ทั่วไปในชายไทย ที่น่ากังวลใจอย่างยิ่งก็คือ ผู้ป่วยมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก และไม่ต้องการที่จะรักษาให้หาย ผู้ป่วยหลายคนยังคงทนทุกข์ทรมานอยู่เงียบๆ คนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะโรคนี้จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตคู่ของผู้ป่วย ทั้งๆที่โรคอีดีสามารถรักษาให้หายได้"
มิส เบฮาน ดี ซาอิม ผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย/สหภาพพม่า บริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า "ไฟเซอร์ เปรียบเสมือนเป็นผู้นำในด้านการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคอีดีแก่แพทย์และประชาชนทั่วไป จะเห็นได้จากการเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาและสำรวจครั้งนี้ ซึ่งพบว่าผู้ชายไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอีดี และผู้ป่วยยังคงลังเลที่จะไปรับการรักษา ไฟเซอร์ จึงเป็นผู้บุกเบิกในกิจกรรมที่จะสร้างความตระหนักและให้การศึกษาในกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องให้กว้างขวางขึ้น"
"ตัวอย่างเช่น ไฟเซอร์ฯ ร่วมกับสมาคมแพทย์ไทยและคณะกรรมการอาหารและยา จะจัดโครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษาโรคอีดีให้แก่แพทย์ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป โดยได้รับความร่วมมือจากแพทย์กลุ่ม EDACTT ด้วย"
"โครงการเผยแพร่ความรู้ ยังมีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ได้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชายขึ้น เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดกับผู้ชาย ซึ่ง รวมถึง โรคอีดี ให้แก่ประชาชนทั่วไป ไฟเซอร์ฯ เชื่อว่า ภารกิจนี้จะดำเนินต่อไปเพื่อให้โรคอีดีเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและที่สำคัญที่สุดเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น" มิส เบฮาน กล่าว
การศึกษาระบาดวิทยาของโรคอีดีในชายไทยครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายและแผนงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับโรคที่เกิดขึ้นในเพศชาย ผลการศึกษาที่ได้รับครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อวงการสาธารณสุขของไทยในการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคอีดีและใช้ข้อมูลที่ได้ในการอ้างอิงและประเมินผลความสำเร็จของการให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้
EDACTT - Erectile Dysfunction Advisory Council and Training of Thailand เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (โรคอีดี) เพื่อพัฒนาโครงการให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในประเทศไทย โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแก่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
กลุ่ม EDACTT ได้รับการก่อตั้งขึ้น โดยยึดนโยบายแนวทางเดียวกับกลุ่ม Erectile Dysfunction Advisory Council (EDAC) ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศจากประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา ที่มาร่วมมือกับตัวแทนจากภาคพื้นเอเชีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศอาหรับ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแก่แพทย์ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป
ไฟเซอร์ ฯ ประกอบธุรกิจด้านการดูแลรักษาสุขภาพทั่วโลก เมื่อปี 2541 บริษัทฯ มีรายได้ประมาณ 13,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2542 จะใช้เงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล บริษัท เพรสโก้ แชนด์วิค (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 257 0300 แฟ็กซ์ 257 0312--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit