อย.บังคับใช้กฎหมายฉลากโภชนาการ มอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้บริโภค

06 Jan 1999

กรุงเทพ--6 ม.ค.--อย.

อย.ผลักดันประกาศฯ ฉลากโภชนาการ บังคับใช้ดีเดย์ 8 ธันวาคม 2541 มอบเป็นของขวัญแก่ผู้บริโภคต้อนรับปีใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายต้องแสดงฉลากโภชนาการตามประกาศฯ ต้องระบุให้ครบว่ามีสารอาหารที่มีคุณค่าชนิดใดบ้าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเตือนประชาชนก่อนจะซื้อกระเช้าผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องเพื่อเป็นของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้สังเกตเดือน ปีที่หมดอายุบนฉลากอาหารด้วย

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2541 ซึ่งถือเป็นฤกษ์ดีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยวัตถุประสงค์ของการออกประกาศฉบับนี้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ที่จะสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกันที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีที่สุด และบริโภคให้เหมาะสมกับภาวะทางโภชนาการของตน สำหรับอาหารที่กำหนดให้ต้องมีฉลากโภชนาการคือ อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น มีแคลเซียมสูง หรือไขมันต่ำ เป็นต้น, อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย เช่น บำรุงร่างกาย, เพื่อสุขภาพ และอาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภคในการส่งเสริมการขาย เช่น สำหรับผู้บริหาร, สำหรับเด็กวัยเรียน เป็นต้น อาหารประเภทดังกล่าวที่ยื่นขออนุญาตตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2541 ต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลโภชนาการบนฉลากให้ครบถ้วน แต่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายตามประกาศฯ ซึ่งเคยขอนุญาตไว้ก่อนประกาศฯ ฉบับนี้ใช้บังคับ ต้องยื่นขออนุญาตแก้ไขจัดทำฉลากให้ถูกต้องภายใน 5 มิถุนายน 2542 อย่างไรก็ตามถ้าปราปฎว่าฉลากเดิมที่ได้จัดทำไว้ใช้ก่อนวันที่ประกาศฯ ฉบับนี้ใช้บังคับเหลืออยู่ จะอนุญาตให้ใช้ฉลากเดิมไปพลางๆ ก่อนจนกว่าจะหมด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศฯ ฉบับนี้ใช้บังคับ คือ ไม่เกินวันที่ 7 ธันวาคม 2542 เพราะฉะนั้นฉลากอาหารที่แสดงฉลากโภชนาการจะต้องมีความถูกต้องครบถ้วนทุกรายตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไป

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ผู้บริโภคมักนิยมซื้อกระเช้า ซึ่งมีผลิตภัณ์อาหารกระป๋องเป็นของขวัญปีใหม่ อย.ขอแนะนำผู้บริโภคควรจะสังเกตฉลากบนอาหารกระป๋อง ต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดบนฉลากเป็นภาษาไทยครบถ้วน เช่น ชื่อประเภทของอาหาร, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต, เลขทะเบียนตำรับอาหาร, ปริมาตรหรือน้ำหนักสุทธิ และที่สำคัญคือ เดือนและปีที่ผลิต หรือเดือนและปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภค ซึ่งผู้บริโภคควรเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ หรือไม่ผลิตไว้นานเกินไป เพราะอาจเกิดอันตรายจากการบริโภคได้ นอกจากนี้ ควรสังเกตลักษณะภายนอกของอาหารกระป๋องต้องอยู่ในสภาพดี ไม่เป็นสนิม รั่ว ซึม หรือบุบ บวม เพราะอาหารกระป๋องที่มีลักษณะดังกล่าว มักจะไม่มีคุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทยในยุค IMF ขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคประหยัด โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตในเมืองไทย ฝีมือคนไทย และราคาถูก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวลงได้มาก

นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอเตือนมายังผู้จำหน่ายทั้งห้างสรรพสินค้า สหกรณ์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าต่างๆ ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่จะจำหน่ายอย่างละเอียดรอบคอบ อย่าได้นำผลิตภัณฑ์อาหารที่หมดอายุแล้วไปจำหน่ายแก่ผู้บริโภค เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายได้ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะมีความผิดตามกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที โทษตั้งแต่ปรับไปจนถึงจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามลักษณะของความผิด รองเลขาธิการฯ กล่าวย้ำในที่สุด--จบ--