ดอยช์แบงก์เตือน องค์กรธุรกิจต้องพร้อมรับอีเอ็มยู และเงินยูโรเสริมความแข็งแกร่ง พร้อมรับการแข่งขัน

19 Nov 1998

กรุงเทพ--19 พ.ย.--ธนาคารดอยช์แบงก์

ดอยช์แบงก์เตือนผู้ประกอบการที่ทำการค้ากับประเทศสมาชิกสหภาพการเงินยุโรป (EMU) ต้องปรับกลยุทธ์ให้สามารถรองรับผลกระทบที่อาจเกิดทั้งในด้านการบัญชี การควบคุม การบริหารการเงิน การขาย และการตลาด เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันขององค์กร พร้อมชี้แนวทางเตรียมตัวรับการประกาศใช้เงินยูโร 1 มกราคม 2542 นี้

มร.อโชก กุมาร์ ผู้ประสานงานโครงการอีเอ็มยูประจำภูมิภาค ธนาคารดอยช์แบงก์ กล่าวในการสัมมนาที่ธนาคารจัดขึ้นว่า "การประกาศให้ใช้เงินยูโร เป็นเงินสกุลหลักสกุลเดียวในยุโรปจะทำให้การกำหนดราคาสินค้ามีความโปร่งใสและช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งองค์กรธุรกิจที่ได้ปรับตัวเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้แล้วจะมีความได้เปรียบทางธุรกิจมากขึ้น ในขณะที่องค์กรที่ยังไม่ได้เตรียมตัวเต็มที่อาจจะต้องประสบปัญหาบ้าง"

การใช้เงินสกุลเดียวกันในกลุ่มประเทศสมาชิก ทำให้บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ต้องหันมายึดนโยบายการกำหนดราคาสินค้าเดียวสำหรับทั้งภูมิภาค แทนที่จะเป็นการกำหนดราคาสำหรับแต่ละประเทศ นอกจากนี้องค์กรต่าง ๆ ยังต้องปรับตัวด้านการผลิตการตลาด เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ตนผลิตนั้นจะสามารถแข่งขันได้ในทุก ๆ ตลาดที่ใช้เงินยูโร

บริษัทที่ทำธุรกิจกับประเทศสมาชิกสหภาพการเงินยุโรปนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบบัญชี เพื่อให้สามารถรองรับการลงบัญชีเป็นเงินยูโรได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวทั้งด้านความสะดวกและต้นทุนที่ต่ำลง ถึงแม้ว่าในการเปลี่ยนแปลงระบบบัญชีนี้อาจจะมีต้นทุนบ้างในระยะแรก

มร. อเล็กซ์ บาร์เร็ตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายเงินตราต่างประเทศประจำภูมิภาค กล่าวเสริมว่า "ต้นทุนในการทำธุรกิจกับประเทศสมาชิกสหภาพการเงินยุโรปจะลดลง เพราะบริษัทที่ทำการค้ากับภูมิภาคนี้สามารถซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโรเพียงสกุลเดียว แทนที่จะเป็น 11 สกุล และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิก องค์กรธุรกิจเหล่านี้จึงสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจและการลงทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการรวมสหภาพการเงินยุโรปที่มีต่อแต่ละอุตสาหกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันไป เนื่องจากต้นทุนการเปลี่ยนแปลง ด้านเทคนิค ผลกระทบต่อธุรกิจหลัก และการบริหารบุคคลของแต่ละอุตสาหกรรมนั้นไม่เหมือนกัน

"การรวมเป็นสหภาพการเงินยุโรปนั้น จะอำนวยประโยชน์เป็นอันมากให้แก่ธุรกิจบางประเภท เช่นซอฟแวร์ และวิศวกรรม ซึ่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิต หรือการกำหนดราคา แต่อาจมีผลกระทบค่อนข้างมากในธุรกิจเงินทุนและค้าปลีก อย่างไรก็ดี ในอีกแง่หนึ่ง สหภาพการเงินยุโรปจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน" มร.อโชก กล่าว

องค์กรที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในภูมิภาคนี้จะต้องเข้าใจถึงระบบสหภาพการเงินอย่างถ่องแท้ ด้วยตระหนักดีถึงปัจจัยสำคัญดังกล่าว ดอยช์แบงก์จึงได้ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจอันดีให้แก่ บริษัทในเอเชีย เรื่องผลกระทบที่เกิดจากสหภาพการเงินยุโรป และให้คำปรึกษาเพื่อให้องค์กรเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุดหลังจากได้มีการรวมเป็นสหภาพการเงินยุโรป

ดอยช์แบงก์ เป็นธนาคารชั้นนำในภูมิภาคยุโรป และเป็นหนึ่งในจำนวนธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย ดอยช์แบงก์เปิดให้บริการในประเทศต่าง ๆ 17 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีพนักงานในภูมิภาคนี้ประมาณ 6,000 คน สำหรับในประเทศไทย ธนาคารฯ ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ไซมอนล็อค ดอยช์แบงก์ (สิงคโปร์) โทร. (001-65) 423-8411--จบ--

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit