กรุงเทพ--8 ก.ย.--อย.
อย.เตือนผู้ประกอบการกำจัดปลวก-แมลง อย่าใช้สารคลอเดน และ อาร์เซนิค ไตรออกไซด์ (สารหนู) ในกิจการดังกล่าว เพราะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภคอีกทั้งกฎหมายกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ใช้ หรือ ครอบครอง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภก.วิศิษฎ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของยาและการใช้ยา เปิดเผยว่าตามที่ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ตรวจสถานที่มีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครองเพื่อใช้รับจ้างจำกัดปลวก พบว่า มีการใช้วัตถุอันตราย ได้แก่ คลอเดน และ อาร์เซนิค ไตรออกไซด์ (สารหนู) โดยไม่ได้แจ้งชื่อขออนุญาตไว้และเป็นวัตถุอันตรายที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ามีการจำหน่ายอาร์เซนิค ไตรออกโซด์ดังกล่าว อย่างแพร่หลายอยู่ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งผู้จำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างอาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งได้มีการควบคุมสารเคมีคลอเดน และอาร์เซนิค ไตรออกไซด์ (สารหนู) โดยจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึง ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย ใช้ หรือ ครอบครองสารเคมีดังกล่าว ทั้งนี้เพราะสารเคมี ทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าวมีอันตรายร้ายแรงต่อผู้บริโภค ความเป็นพิษของอาร์เซนิค ไตรออกไซด์ จะมีผลต่อคนทั้งจากการรับประทานและการสูดดม โดยพบว่าอาร์เซนิค ไตรออกไซด์เป็นสารก่อมะเร็งและสารก่อกลายพันธุ์ ในกรณีพิษเฉียบพลัน ทำให้ผู้บริโภคถึงตายได้ สำหรับพิษเรื้อรัง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ปวด ชาและร้อนซ่าตามแขนขา ผิวหน้งมีสีเข้มขึ้นโดยเฉพาะบริเวณคอ เปลือกตา หัวนม รักแร้ ผิวหนังบวม อักเสบ มีรอยด่างขาวเป็นแถบ ขนหลุดร่วง ผิวหนังหลุดออก ฝ่ามือฝ่าเท้าดานแข็ง ที่เล็บมีเส้นสีขาวปรากฎอยู่ อักเสบในช่องปาก คันคอ เจ็บคอ เยื่อจมูกอักเสบ น้ำตาไหล ตับโต ท่อน้ำดีอุดตัน ดีซ่าน ตับแข็ง ไตอักเสบเรื้อรัง เยื่อหุ้มสมองเสื่อม มีผลต่อไขกระดูกและระบบเลือด รวมทั้งการก่อให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนัง ตับและปอด ด้วย อนึ่ง วิธีการใช้ผงอาร์เซนิค ไตรออกไซด์ ฆ่าปลวกโดยเจาะรูที่จอมปลวกหรือที่มีปลวกทำรังอยู่แล้วโรยผงลงไปตามโพรงที่ปลวกได้เจาะไว้ จะมีโอกาสที่อาร์เซนิค ไตรออกไซด์ ฟุ้งกระจายได้ในขณะที่พ่นหรือโรย ซี่งนำไปสู่การปนเปื้อนในดิน น้ำ อาหาร และอากาศ ทำให้เพิ่มโอกาสสัมผัสต่อตัวผู้ใช้ ก่อให้เกิดพิษภัยข้างต้นได้
สำหรับสารเคมีอีกชนิดคือ คลอเดนนั้น เป็นสารเคมีที่เคยนำมาใช้เป็นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชตามไร่ สวน และใช้กำจัดปลวก โดยคลอเดนจะติดแน่นอยู่บนผิวดิน มีการสลายตัวช้ามากและคงอยู่ในดินนานกว่า 20 ปี และสามารถสะสมในเนื้อเยื่อของปลา นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้คลอเดนสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ โดยการรับประทานปลา สัตว์น้ำ พืช ผักที่ปลูกในดินหรือแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนคลอเดน หรือ หายใจเอาอากาศ หรือสัมผัสดินที่ปนเปื้อนคลอเดนจากการกำจัดปลวก หรือแหล่งกำจัดหรือฝังกลบของเสีย ซึ่งความเป็นพิษของคลอเดน จะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ระบบย่อยอาหารและตับในคนและสัตว์ หากสูดอากาศที่มีคลอเดนในความเข้มข้นสูง ๆ หรือรับประทานจำนวนน้อย ๆ จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ระคายเคือง อ่อนเพลีย สับสน ปวดท้อง ท้องเสีย ดีซ่าน และหากรับประทานในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เกิดการชักและตายได้ ในผู้ที่สัมผัสดินที่มีการปนเปื้อนของคลอเดนปริมาณสูง ๆ เป็นเวลานาน จะเกิดการชักและมีผลต่อตับและไตด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าคลอเดนอาจเป็นสารก่อมะเร็งและอาจทำลายตัวอ่อนในครรภ์ และลดความสามารถในการให้ลูก จึงได้มีการห้ามใช้สารคลอเดนในงานทุกประเภท
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงขอเตือนผู้ประกอบการอย่าได้ทำการผลิตนำเข้า จำหน่าย ใช้ หรือ ครอบครองสารเคมีดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป และถ้าหากถูกตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทันทีมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ภก.วิศิษฎ์ ประวีณวงศ์วุฒิ กล่าวในที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 590-7123--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit