LTB9: แหลมทองเปิดบริการวิดีโอแบงก์รายแรกของระบบธนาคารไทย

20 Jul 1998

กรุงเทพ--20 ก.ค.--บมจ.ธนาคารแหลมทอง

"แหลมทอง" ให้บริการนำสมัย "วิดีโอแบงก์" เป็นแห่งแรกของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

พร้อมใช้เครื่องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอัตโนมัติ "สุรเกียรติ์" ระบุเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้สร้างความพร้อมให้กับบริการของธนาคาร รองรับภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวในอีกไม่ช้านี้

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังจากการเป็นประธานในพิธีเปิดธนาคารแหลมทองสาขาสีลม 2 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 ว่าธนาคารได้เปิดให้บริการใหม่พิเศษ 2 ประเภท ซึ่งเริ่มที่สาขาสีลม 2 ประกอบด้วย บริการวิดีโอแบงก์ ซึ่งเป็นการเปิดให้บริการแห่งแรกของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย และบริการเครื่องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอัตโนมัติ (AEM) โดยบริการใหม่ทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนำสมัย มารองรับความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ของธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

แหลมทองวิดีโอแบงก์ ถือเป็นการให้บริการเป็นรายแรก ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยนี้เป็นการผสมผสานของ 3 เทคโนโลยีได้แก่เทคโนโลยีระบบวีดีโอ เทคโนโลยีประมวลผลของคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร จนสามารถให้บริการด้านการธนาคารกับลูกค้าทั้งทางด้านข้อมูล การติดต่อสนทนาโดยตรงระหว่างลูกค้ากับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร

และอนาคตจะพัฒนาเป็นการดำเนินธุรกรรมการธนาคารได้เต็มรูปแบบ

สำหรับบริการแหลมทองวิดีโอแบงก์ในปัจจุบัน ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามในเรื่องข้อมูลของบริการทุกประเภทของธนาคารแหลมทอง อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ขอสมุดเช็ค อายัดเช็ค ขอหนังสือรับรองบัญชีเงินฝาก สอบถามยอดเงินในบัญชีเงินฝาก โอนเงินระหว่างบัญชี และบริการธนาคารทางโทรศัพท์ (Telephone Banking) และข้อมูลข่าวสารในลักษณะภาพพร้อมเสียงซึ่งสื่อสารมาจากศูนย์ควบคุมกลางโดยลูกค้าสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ Call Center ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (รายละเอียดมีอยู่ในเอกสารแนบ)

ทางด้านเครื่องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอัตโนมัติ ซึ่งธนาคารนำมาให้บริการเป็นแห่งแรกที่สาขาสีลม 2 นี้ เป็นส่วนหนึ่ง ของแผนการในฐานะที่ธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารแห่งเอเชี่ยนเกมส์ 1998 ซึ่งต้องให้บริการในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในระหว่างวันที่ 6-20 ธันวาคม 2541 นี้

บริการเครื่องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอัตโนมัติ (AEM) นี้ จะมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับเครื่องเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM) ส่วนระบบการทำงานจะมีการเก็บข้อมูลฐานบันทึกไว้ในคลังข้อมูล (DatsModule) เพื่อให้ลูกค้าสอบถามข้อมูลเรื่องชนิดธนบัตรและสกุลเงินที่รับแลก อัตราแลกเปลี่ยน อัตราภาษีค่าคอมมิสชัน โดยข้อมูลเหล่านี้จะแสดงเป็นภาษาหลักต่างๆ ได้มากกว่า 20 ภาษา พร้อมทั้งให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลหลักๆที่เป็นธนบัตรมาเป็นเงินบาทไทย ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารกำหนด โดยเครื่อง AEM นี้มีประสิทธิภาพตรวจสอบธนบัตรทุกประเภท โดยเฉพาะธนบัตรซึ่งแต่ละประเทศออกมาใหม่ๆได้แม่นยำมากกว่า 90-95% หากเป็นธนบัตรปลอมหรือธนบัตรที่ชำรุด เครื่องจะปฏิเสธการรับแลกและส่งธนบัตรคืนออกมาให้

ดร.สุรเกียรติ์ได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การเพิ่มบริการใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีนำสมัยมารองรับนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังเศรษฐกิจไทยกลับฟื้นตัวอีกครั้งในอีกไม่ช้านี้ โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งจะมีชาวต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมากขึ้น บริการด้านการธนาคารไทยจึงจำเป็นต้องปรับให้เป็นมาตรฐานสากล

"การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการลูกค้าของธนาคารนี้ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของธนาคารและเป็นการดำเนินการตามนโยบายซึ่งได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารจะแสวงหาความร่วมมือกับผู้ถือหุ้นใหม่และพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partners) เช่นกลุ่มยูคอม การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นต้น"

ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 260-0090 ต่อ 345 และ 442 คุณบุญชัย, คุณชมชลี, คุณแสงจันทร์--จบ--