กรุงเทพ--19 ต.ค.--บริษัท ไฟเซอร์ฯ
การศึกษาวิจัยทางคลินิกครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียเรื่องโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศกับยาไวอากร้า หรือซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Viagra-Sidenafil Citrate) ปรากฏว่าได้ผลสอดคล้องกับผลที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่แพทย์หลายคนได้ทำการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยาไวอากร้า เป็นยาชนิดรับประทานที่ใช้รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในชายชาวเอเชียได้ผลดีและปลอดภัยต่อดวงตา
สำหรับการศึกษาวิจัยทางคลินิก เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาซิลเดนาฟิลในเอเชีย “ASSESS – (ASian Sildenafil Efficacy and Safety Study) ได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 690 คน จากศูนย์รักษาโรค รวม 23 แห่ง ผู้ป่วยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เป็นชายอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และยังคงมีความสัมพันธ์กับคู่ครองที่เป็นเพศหญิงสม่ำเสมอ สำหรับในประเทศไทยนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก ในผู้ป่วยชาย 125 รายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ และโรงพยาบาลศิริราช
การศึกษาวิจัยทางคลินิกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไฟเซอร์ได้เสนอให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทำการศึกษาวิจัย ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการเกือบ 4,000 คน พบว่า ไวอากร้าช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวมีความปลอดภัยต่อดวงตา ผู้ป่วยบางรายมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยทางตา ก็เป็นชั่วคราวแล้วหายเป็นปกติดังเดิม และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่จะมีอาการดังกล่าว
ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกทั่วโลก แพทย์พบว่าผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก หรือ เพียงร้อยละ 2.7 ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการว่ามีอาการข้างเคียงในเรื่องของการมองเห็น อาทิเช่น บางรายอาจเห็นสีฟ้าแซม บางรายเห็นแสงจ้า หรือตามัวเล็กน้อย อาการเหล่านี้ เกิดขึ้นเล็กน้อย เพียงชั่วคราว แล้วหายเป็นปกติดังเดิม โดยมักเกิดขึ้นประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากใช้ยาและเป็นอยู่นานประมาณสองสามนาทีถึงไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ป่วยรายใดขอถอนตัวจากการศึกษา เนื่องจากเหตุของอาการดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นที่ทราบแล้วว่าอาจมีอาการข้างเคียงในเรื่องของการมองเห็น ซึ่งเกิดจากการที่
ยาไวอากร้าไปยับยั้งการทำงานของพีดีอี-6 (Phosphodiesterase – PDE-6) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบในเรตินา (จอประสาทตา) แต่ไวอากร้ามีผลยับยั้ง PDE 6 (ตา) น้อยกว่าต่อ PDE 5 (อวัยวะเพศ) ถึง 10 เท่า
ศ.น.พ. เทียม หล่อเทียนทอง ประธานชมรมจอประสาทตาแห่งประเทศไทย และประธานอนุกรรมการจริยธรรมราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เนื่องจากส่วนผสมของยาไวอากร้า ที่รู้จักกันในชื่อ “ซิลเดนาฟิล” มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของ พีดีอี-6 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ยาอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดผลข้างเคียงที่ดวงตาได้ ยารักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง (coronary heart disease) ที่ใช้กันมานานมาก คือ ยากลีเซอรีล ไตรไนเตรท (Glyceryl trinitrate) มีผลเช่นเดียวกัน คือ การเห็นสีผิดไปชั่วคราว เพราะขบวนการใกล้กันมากคือ ทั้ง 2 ตัวทำให้ cyclic GMP เพิ่มขึ้น ในขบวนการของการทำงานในจอประสาทตา จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกของไฟเซอร์ที่ให้แพทย์หลายรายทำการศึกษาเพื่อครอบคลุมผู้ป่วยหลายกลุ่ม รวมจำนวนกว่า 5,000 คน ทั้งในเอเชียและในสหรัฐอเมริกา พบว่า น้อยกว่าร้อยละ 3 ของผู้ป่วยที่กินยาไวอากร้าในขนาดปกติมีอาการข้างเคียงที่ดวงตา และผู้ป่วยเหล่านี้ ได้รายงานว่าเกิดอาการดังกล่าวขึ้นเล็กน้อย และหายเป็นปกติโดยธรรมชาติ”
ศ.น.พ. ประจักษ์ ประจักษ์เวช ประธานสมาคมจักษุแพทย์แห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และอดีตหัวหน้าภาควิชาจักษุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “ผลจากการศึกษาวิจัยที่พบว่ากลุ่มผู้ป่วยจำนวนน้อยเห็นแสงจ้า หรือเห็นสีฟ้าแซมเพียงชั่วคราวแล้วหายเป็นปกตินั้น กล่าวได้ว่า ไม่ใช่อาการของตาบอดสี เพราะโรคตาบอดสีเกิดจากกรรมพันธุ์เท่านั้น และคนตาบอดสี จะเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนดี เพียงแค่อ่านบอกสีไม่ได้ชัดเจน หากเป็นมากก็บอกสีไม่ได้ เช่น บอกสีเขียว แดง เหลือง ของไฟจราจรไม่ได้ เห็นหญ้าสีเขียวเป็นสีเทา ดังนั้น ผลจากการศึกษาวิจัยทำให้สรุปได้ว่ายาไวอากร้ามีความปลอดภัยไม่ทำให้เป็นโรคตาบอดสี หรืออาการข้างเคียงที่รุนแรง”
นอกจาก การศึกษาวิจัยทางคลินิกดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีศึกษาเรื่องความปลอดภัยของยาไวอากร้าต่อดวงตาในระยะยาวอีกด้วย โดยใช้เวลาศึกษานานถึง 1 ปี เป็นการตรวจ และทดสอบการมองเห็นหลายรูปแบบ ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์เหมือนกัน กล่าวคือไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป และผลข้างเคียงที่เกิดกับดวงตามีเพียงเล็กน้อย เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และหายเป็นปกติดังเดิม
“ผลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่ายาไวอากร้าไม่ได้ทำให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากปกติและหลักฐานทางการแพทย์แสดงให้เห็นได้ว่าการใช้ยาไวอากร้าในปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้ใช้เป็นเวลานานไม่ทำลายเรตินาอย่างถาวร ผลลัพธ์ที่ได้เป็นการยืนยันถึงความปลอดภัยของยาไวอากร้าในการใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ” ศ.น.พ. เทียม กล่าวเสริม
ผลข้างเคียงของยาไวอากร้าต่อดวงตา ที่จริงแล้ว มีเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในการศึกษาวิจัย เช่น อาการปวดศีรษะ (ร้อยละ 16) หน้าแดง (ร้อยละ 11) และท้องอืด (ร้อยละ 7) ซึ่งเป็นเพียงเล็กน้อย แล้วหายเป็นปกติโดยธรรมชาติ ยาไวอากร้าห้ามใช้ในผู้ป่วยที่รับประทานยาประเภทไนเตรท
บริษัท ไฟเซอร์ฯ ดำเนินธุรกิจด้านการดูแลรักษาสุขภาพทั่วโลก โดยอาศัยการวิจัยเป็นพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในปี 2540 บริษัทฯ มีรายได้ 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2541
ขณะนี้ ยาไวอากร้าได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายได้ใน 34 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติในอีกหลายประเทศ
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล คุณนิโลบล โควาพิทักษ์เทศ มร. เดอริค บาร์เทล บริษัท เพรสโก้ แชนด์วิค (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 273 8800 โทรสาร 273 8880--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit