กรุงเทพ--3 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
จิตเภท เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยผิดปกติทางความคิด อารมณ์ การรับรู้และพฤติกรรม แต่สติยังสมบูรณ์ปกติ มิได้เกิดจากโรคทางกายหรือทางสมอง แต่เกิดจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ล้วนก่อให้เกิดความเครียด และส่งผลต่อการแสดงออกของโรคจิตและความรุนแรงของโรค โรคนี้มักเกิดในคนวัยหนุ่มสาวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ อาการที่แสดงออก เช่น หูแว่ว แปลความหมายสิ่งที่เห็นผิดไปจากความจริง หลงผิด ประสาทหลอน พูดจาไม่ประติดประต่อ เป็นต้น
นายจิรพันธ์ อรรถจินดา เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยประเภททั่วไป แก่ นางพินลดา มุลาลี โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น และคณะทำการวิจัยเรื่อง "การนำผู้ป่วยจิตเภทได้รักษาด้วยวิธีพื้นบ้านก่อนมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น" ใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทและญาติพารับการรักษาครั้งแรก จำนวน 400 ราย ทั้งกรณีที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เก็บข้อมูลทั่วไปของญาติและผู้ป่วย และพฤติกรรมของผู้ป่วยและญาติก่อนมารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเภท 400 ราย ที่ทำการศึกษาสามารถตอบแบบสอบถามได้เองเพียง 5 ราย นอกนั้นญาติเป็นผู้ตอบให้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย ยังโสด จบระดับประถมศึกษา อายุเฉลี่ย 27 ปี มีอาชีพทำนาและรับจ้าง รายได้เฉลี่ยปีละ 25,472 บาท ภูมิลำเนาอยู่ที่ขอนแก่นและอุดรธานี และเป็นผู้ป่วยนอก (339 ราย) ผู้ที่สังเกตุพบอาการป่วย คือ คนในครอบครัว ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง รองลงมา คือ สามี ภรรยา และ ลูก ผู้ป่วยมักจะถูกนำไปรักษาหลังพบอาการ 1 เดือน และก่อนรับการรักษาที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะไปรักษาโดยวิธีอื่นมาก่อนแล้ว ได้แก่ วิธีไสยศาสตร์ ซึ่งจะมีหมอพระ และคนทรงเจ้า เป็นผู้ให้การรักษา รองลงมาจะไปรักษากับหมอเถื่อน ใช้วิธีซื้อยากินเอง และต้มสมุนไพรกิน เป็นต้น การนำผู้ป่วยไปรักษาทางไสยศาสตร์เนื่องจากเป็นการลองดูตามความเชื่อและเผื่อว่าจะหาย การรอผลการรักษาทางไสยศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้การรักษาทางการแพทย์ล่าช้า อีกสาเหตุของการล่าช้าในการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีใด คือ มีปัญหาการเงิน เพราะการรักษาทางการแพทย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 1,728 บาท และรักษาทางไสยศาสตร์เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 676 บาท ผู้ที่ชักนำผู้ป่วยไปรักษาส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว รองลงมาคือ เพื่อนบ้าน ผู้ป่วยเหล่านี้มักเชื่อว่าสาเหตุที่ป่วยเนื่องจากสิ่งเสพติดและผีเข้า หลังการรักษาทางไสยศาสตร์หรือวิธีอื่นแล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นบ้าง พอๆ กับไม่ดีขึ้นเลย และบางรายได้รับบาดเจ็บ บอบช้ำ จากความรุนแรงในการรักษา ทำให้หันมารักษาทางการแพทย์ในที่สุด ซึ่งมีญาติและเพื้ช่อนบ้านหลายคนตามมาให้กำลังใจที่โรงพยาบาลตามประเพณีอีสานด้วย
ผู้วิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนอีสานในการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตที่มีมาช้านาน กำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากเจตนารมณ์ของการรักษาทางไสยศาสตร์ ของผู้ให้การรักษาผิดไปจากเดิมที่เสียค่ายกครูเล็กน้อย และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจและเลื่อมใสของผู้มารับการรักษา กลายเป็นพฤติกรรมที่หลอกลวงทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก และใช้เวลารักษานาน ใช้วิธีการรักษาที่รุนแรงทำให้บาดเจ็บที่ร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ทำงานด้านจิตเวชและสุขภาพจิตควรศึกษาข้อมูลการรักษาพื้นบ้านและนำมาใช้แนะนำใหความรู้ควบคู่กับจิตเวชแผนปัจจุบันแก่ผู้ป่วย และผู้ทำการรักษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คือ พระภิกษุ ให้เลือกใช้วิธีที่ถูกต้องเหมาะสม พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงผลดีของการนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันโดยเร็วที่สุด--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit