ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกครั้งแรกในเอเชียยืนยันว่า ยาไวอากร้าปลอดภัย และใช้ได้ต่อเนื่อง

13 Oct 1998

กรุงเทพ--13 ต.ค.--Pfizer

บริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ประกาศผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในภูมิภาคเอเชียครั้งแรกของยาไวอากร้า หรือ ซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Viagra-Sidenafil Citrate) ในงานประชุมวิชาการเรื่องยาไวอากร้าแก่บรรดาแพทย์ ปรากฏว่า ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกา และชี้ให้เห็นว่าชายชาวเอเชียที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction – ED) เมื่อใช้ยาไวอากร้าแล้ว สามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้นานพอต่อการมีเพศสัมพันธ์ ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกครั้งนี้ สรุปว่า ซิลเดนาฟิล เป็นยาชนิดรับประทานที่ใช้ได้ผลกับผู้ป่วยชาวเอเชียที่มีโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ กัน และทนต่อยาได้ดี

การศึกษาวิจัยทางคลินิก เรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาซิลเดนาฟิลในเอเชีย “ASSESS – (ASian Sildenafil Efficacy and Safety Study) ได้จัดทำขึ้นในประเทศไทย ฮ่องกง

อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ และมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 690 คน จากศูนย์รักษาโรค รวม 23 แห่ง ผู้ป่วยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เป็นชายอายุ 18 ปีขึ้นไปซึ่งมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และยังคงมีความสัมพันธ์กับคู่ครองที่เป็นเพศหญิงสม่ำเสมอ สำหรับในประเทศไทยนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก ในผู้ป่วยชาย 125 รายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การศึกษาวิจัยทางคลินิก ASSESS ได้จัดแบ่งเป็น 3 โครงการย่อย โครงการหนึ่งจะมีประเทศร่วมหลายประเทศ โครงการ ASSESS-1 มีประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ และฟิลิปปินส์ โครงการ ASSESS-2 รวมประเทศไทย ฮ่องกง และอินโดนีเซีย สำหรับโครงการ ASSESS-3 อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยทางคลินิกทำในประเทศไต้หวัน ผลจากการศึกษาวิจัยทางคลินิกของกลุ่ม ASSESS-2 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยนั้น แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 81 ของผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพ

ทางเพศ มีอาการดีขึ้น คือ สามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ หลังจากใช้ยาไวอากร้านาน 12 สัปดาห์ ในขณะที่การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo) มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้น การทดลองของโครงการ ASSESS-2 ได้ผลคล้ายคลึงกับ ASSESS-1 กล่าวคือ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมีน้อยและหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา โดยสรุปแล้วผลที่ได้จากการศึกษาวิจัย ASSESS คือ ยาไวอากร้าเป็นยาชนิดรับประทานที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ผลดีและชายชาวเอเชียทนต่อการใช้ยาได้ดี

รศ. น.พ. อภิชาติ กงกะนันทน์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะแพทย์วิจัยที่ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก ASSESS ในประเทศไทย กล่าวว่า “ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาไวอากร้าที่ได้จากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในวงกว้างของไฟเซอร์มีความชัดเจนมาก ผลการทดลองของกลุ่ม ASSESS-2 แสดงให้เห็นว่าไวอากร้าเป็นยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับชายไทย คุณประโยชน์ของยาไวอากร้าจะวัดได้จากผลทางอ้อมที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศนับล้านคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยในประเทศไทยด้วย”

“ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิก ASSESS สอดคล้องกับรายงานผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทดลองยาไวอากร้ากับผู้ชายกว่า 4,500 คน ในการศึกษาวิจัยทางคลินิก 21 โครงการ โดยมีการศึกษาหลายรูปแบบในผู้ป่วยอายุโดยเฉลี่ย 55 ปี ที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และระดับมากโดยสิ้นเชิง กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับคลอเรสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน และการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นเวลานานเฉลี่ย 5 ปีก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการทดลอง

ยาไวอากร้าใช้ได้ผลกับผู้ชาย 7 คน จากจำนวน 10 คน และใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศและเป็นโรคอื่นด้วย เช่น โรคเบาหวาน การบาดเจ็บของไขสันหลัง หรือมีสาเหตุมาจากปัญหาทางด้านจิตใจ การศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยและคู่ครองได้ใช้แบบสอบถามที่แพทย์ผู้ทำการศึกษาจากโรงพยาบาลชั้นนำเป็นผู้ออกแบบโดยเฉพาะ

จากการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่า ผู้ป่วยทนต่อยาซิลเดนาฟิลได้ดี มีผู้ป่วยที่ใช้ยาไวอากร้าเลิกการทดลองร้อยละ 2.5 เมื่อเปรียบเทียบได้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาหลอก ซึ่งเลิกการทดลองร้อยละ

2.3 สำหรับอาการข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดจากการใช้ยาไวอากร้า คือ ปวดศีรษะ หน้าแดง และอาหารไม่ย่อย ยาไวอากร้าไม่ควรใช้สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาประเภทไนเตรตทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึง ยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจที่มีไนโตรกลีเซอรีน และยาที่มีสารไนเตรต ซึ่งมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก

นอกจากนี้ ไฟเซอร์ฯ ยังขอให้แพทย์ทำการตรวจสอบประวัติการรักษาและตรวจร่างกายผู้ป่วยก่อนที่จะให้ใบสั่งยา เนื่องจากโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมักจะสัมพันธ์กับโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า ดังนั้น การตรวจซักประวัติจึงจำเป็นและเป็นหนทางที่จะทราบถึงสาเหตุของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งต้องรับการรักษาด้วย

การมีกิจกรรมทางเพศ ก็เช่นเดียวกับการออกกำลังรูปแบบอื่น ที่จะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น แพทย์จึงต้องการที่จะทราบประวัติของอาการโรคหัวใจของผู้ป่วยก่อนที่จะให้ผู้ป่วยกลับไปทำกิจกรรมทางเพศได้ดั่งเดิม หรือก่อนที่จะทำการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เพราะยาไวอากร้ามิใช่ยากระตุ้นความต้องการทางเพศ

น.พ. มาร์ค ซี. กิทเทิลแมน ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยทางคลินิก เรื่อง “ไวอากร้า เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของวงการแพทย์” ให้แก่แพทย์ไทยในการประชุมวิชาการโดยกล่าวถึง การใช้ยาไวอากร้ารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศว่า “โทรศัพท์ที่ติดต่อเข้ามาและจดหมายจำนวนมากที่นักวิจัยของไฟเซอร์ได้รับจากผู้ชายที่เป็นโรคหย่อนสรรถภาพทางเพศและคู่ครองของพวกเขาแสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งถึงประสิทธิภาพของการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่ประสบผลสำเร็จ ยาไวอากร้า นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการแพทย์ เพราะเป็นยาชนิดรับประทานชนิดแรกที่ใช้รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศซึ่งพิสูจน์ในการทดลองทางด้านคลินิกแล้วว่าใช้ได้ผลดีและทนต่อผลข้างเคียงของยา

ไวอากร้าเป็นยาเม็ดที่ใช้รับประทานประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ เป็นยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศประกอบกิจกรรมทางเพศได้ตามวิธีธรรมชาติ ยาไวอากร้าใช้ได้ผลในผู้ชายส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือเดิมเรียกว่า“ไร้สมรรถภาพทางเพศ” ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุมากมายทั้งทางด้านร่างกายหรือปัญหาด้านจิตใจ

ไวอากร้า ซึ่งค้นพบและพัฒนาโดยไฟเซอร์ฯ เป็นยาชนิดแรกที่วงการแพทย์จัดอยู่ในกลุ่มยายับยั้งอย่างเฉพาะเจาะจงต่อการทำงานของพีดีอี-5 (phosphodiesterase type 5) จึงช่วยให้เลือดไหลสู่อวัยวะเพศคั่งและทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว ในการทดลองทางคลินิก พบว่า ยาไวอากร้ามีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประสบผลสำเร็จในกิจกรรมทางเพศได้

“ไวอากร้าเป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะว่าช่วยรักษาโรคซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ชายและคู่ครองจำนวนมาก” มิส เบฮาน ดี. ซาอิม ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไฟเซอร์ฯประจำประเทศไทยและสหภาพพม่า กล่าว “ยาไวอากร้า ซึ่งเป็นวีธีการรักษาแบบใหม่ที่จำเป็นสำหรับวงการแพทย์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภารกิจในด้านการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยของไฟเซอร์ฯ เป็นอย่างดี”

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือ แข็งได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำ หรืออย่างต่อเนื่อง คาดว่าชายทั่วโลกกว่า 100 ล้านคนเป็นโรคนี้ จากสถิติที่ปรากฏในเอกสารทางการแพทย์ ทั้งนี้ อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะเพิ่มขึ้นตามอายุ แต่ไม่ได้หมายความถึงสาเหตุเกิดจากอายุมากขึ้น สาเหตุที่แท้จริงเนื่องมาจากการที่อายุมากขึ้น จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ตามมามากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

“เนื่องจากยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ บริษัท ไฟเซอร์ฯ จึงต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบรรดาแพทย์ ผู้ป่วย และคู่ครองของผู้ป่วย ในการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้” มิส ซาอิม กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดจำหน่ายยาไวอากร้าแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจะจำหน่ายให้เฉพาะโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศอย่างเข้มงวดโดยแพทย์ในสี่สาขา คือ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ อายุรแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ และจิตแพทย์ เป็นผู้มีสิทธิสั่งยา ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะต้องตระหนักว่าการใช้ ยาไวอากร้า ที่จำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นจึงจะปลอดภัย ราคาของยาไวอากร้าจะประมาณ 400 บาท สำหรับขนาด 50 มิลลิกรัม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนยาไวอากร้าโดยมีเงื่อนไขว่าบริษัท ไฟเซอร์ฯ จะต้องจัดทำโครงการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาไวอากร้าและการใช้ยาอย่างปลอดภัย ไฟเซอร์ฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมในสองโครงการ คือ โครงการให้ความรู้แก่แพทย์ที่มีสิทธิให้ใบสั่งยา และโครงการให้ความรู้เรื่องโรคแก่ประชาชนทั่วไป

กิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ความรู้ที่ไฟเซอร์ฯ ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้น ได้แก่ EDACTT หรือ Erectile Dysfunction Advisory Council and Training (Thailand) ซึ่งจะดำเนินกิจกรรมเผยแพร่ความรู้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขและศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย (ICMH – Information Centre on Men ’s Health) ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชายจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและประเด็นปัญหาที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเพศชาย รวมทั้ง เรื่องโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังจะมีกิจกรรมเผยแพร่โดยใช้สื่อต่างๆ เช่น การจัดทำเว็บไซต์ภาษาไทย

ขณะนี้ ยาไวอากร้าได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายได้ใน 32 ประเทศทั่วโลก รวมทั้ง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บราซิล สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล และประเทศอื่นๆ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติในอีกหลายประเทศ ได้แก่ ชิลี โปแลนด์ รัสเซีย สิงค์โปร์ และมาเลเซีย

ไฟเซอร์ฯ ประกอบธุรกิจด้านการดูแลรักษาสุขภาพทั่วโลก โดยอาศัยการวิจัยเป็นพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในปี 2540 บริษัทฯ มีรายได้ 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2541

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณปองปรัชญ์ สุโรจนะเมธากุล มร. เดอริค บาร์เทล คุณไพโรจน์ ภาชนะปรีดา

บริษัท เพรสโก้ แชนด์วิค (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 273 8800 โทรสาร 273 8880--จบ--