ไต้หวันมีแนวโน้มจะปรับนโยบายด้านแรงงานต่างชาติ

16 Mar 1998

กรุงเทพ--16 มี.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานจากสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยไทเป แจ้งว่า ภายหลังจากที่ไต้หวันได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2541 และได้มีการเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการกิจการแรงงาน (Council of Labour Affairs) เป็นผลให้ไต้หวันมีแนวโน้มจะปรับปรุงนโยบายด้านแรงงานต่างชาติ ดังนี้

1. คณะรัฐมนตรีไต้หวันได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกิจการแรงงานให้จำกัดโควต้าแรงงานต่างชาติให้อยู่ในระดับเติม โดยจะยังไม่ให้เพิ่มในขณะนี้

2.ไม่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติในกิจการภาคบริการ ส่วนแรงงานในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลและแรงงานบนเรือประมงยังจะอนุญาติต่อไป

3.การจ้างแรงงานต่างชาติในสถานประกอบการประเภทการผลิตและกิจการก่อสร้างของภาคเอกชน มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงจากเดิมร้อยละ 30 ของแรงงานท้องถิ่น เหลือร้อยละ 25 สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการที่สำคัญของรัฐ จะพิจารณาปรับลดแรงงานต่างชาติจากเดิมร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 45

4.คณะกรรมการกิจการแรงงานร่วมกับกระทรวงเศรษฐการและทบวงรักษาสิ่งแวดล้อม จะร่วมกันพิจารณาผลผลิตของกิจารที่มีการว่าจ้างแรงงานต่างชาติว่า หากมีผลผลิตต่ำหรือไม่อาจพัฒนาต่อไปได้ รวมทั้งเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดมลภาวะ ก็จะไม่อนุญาตให้นำแรงงานต่างชาติเข้าสำหรับกิจการนั้น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ การพิจารณาจะกระทำทุก ๆ 6 เดือน

5.ผู้ประกอบการที่มีการลงทุนหรือขยายกิจการที่มีการลงทุนตั้งแต่ 200,000,000 ดอลลาร์ไต้หวันขึ้นไป ยังคงสามารถนำคนงานต่างชาติเข้ามาทำงานได้

6.คณะกรรมการกิจการแรงงานได้ชะลอการจัดสรรแรงงานต่างชาติแก่ผู้ประกอบการจำนวน 38,000 คนที่ได้อนุมัติให้นำเข้าไว้แล้ว เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติและกลุ่มนักวิชาการได้ท้วงติงการนำเข้าแรงงานต่างชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแรงงานท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อยชาติไต้หวัน

7.ได้มีการเลื่อนอนุมัติการนำเข้าแรงงานตำแหน่งผู้ช่วยงานบ้านเพิ่มเติมอีก 3,000 คนโดยไม่มีกำหนด

แนวโน้มการปรับปรุงนโยบายการรับแรงงานต่างชาติดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกแรงงานไปไต้หวันด้วย อย่างไรก็ดี นายจ้างไต้หวันยังคงสามารถใช้โควต้าแรงงานต่างชาติของตนที่มีอยู่เดิม ดังนั้น หากนายจ้างยังคงมีความพอใจต่อการจ้างแรงงานชาติใดแล้ว ก็สามารถยื่นขออนุญาตนำเข้าแรงงานชาตินั้น ๆ แต่จำนวนอาจจะต้องลดลงตามสัดส่วนที่ทางการกำหนด ฉะนั้น แรงงานไทยคงต้องรักษาชื่อเสียงและคุณสมบัติของตนไว้เพื่อการจ้างต่อ ๆ ไปในอนาคต--จบ--