ไทยต้องสร้างเศรษฐกิจบนฐาน "ปัจจัยสี่" ป้องกันกลียุคยามโลกวิกฤต

31 Mar 1998

กรุงเทพ--31 มี.ค.--ไอเอฟดี

นักอนาคตศาสตร์เตือนรัฐบาลไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เตรียมความพร้อมของชาติตั้งแต่ตอนนี้เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว เสนอให้มีลักษณะเป็น "เศรษฐกิจกระแสกลาง" คือ "ใกล้เสรียามปกติ" และ "ใกล้พึ่งตนเองยามวิกฤต" โดยต้องสร้างเศรษฐกิจบนฐานความแข็งแกร่งของตนเองคือภาคเกษตรและต้องอยู่บนฐานการผลิตปัจจัยสี่ สามารถผลิตอาหาร ยารักษาโรค ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงคนในประเทศทั้งในยามปกติและในยามวิกฤต โดยในยามปกติเราสามารถแข่งขันกับตลาดโลกเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศได้ และในยามวิกฤตซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด "วิกฤตอาหารโลก" ขึ้นในอนาคต อาทิ จากความเป็นไปได้ของการล่มสลายของระบบการเงินโลก การเกิดสงคราม หรือสาเหตุใดก็ตาม เมื่อถึงเวลาวิกฤตเช่นนั้นประเทศไทยก็ยังมีอาหารเลี้ยงคนและปัจจัยสี่ดูแลในประเทศได้โดยไม่ต้องเกิดกลียุคและความวุ่นวายตกทุกข์ได้ยากมากนักในยามนั้น

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) กล่าวว่า รัฐต้องเริ่มเตรียมการเพื่ออนาคตในระยะยาวได้แล้ว อย่าเพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นแม้จะมีความจำเป็นที่ต้องคำนึงปัญหาเฉพาะหน้าบ้างก็ตาม เพราะจากการวิเคราะห์เชิงอนาคตศาสตร์เพื่อคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดร.เกรียงศักดิ์พบว่า ในระยะยาวโลกของเราอาจเกิด "วิกฤติอาหารโลก" ขึ้น อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่นอาจเกิดจากความเปราะบางของระบบการเงินที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกในขณะนี้ หากเกิดสะดุดขึ้น ณ จุดใดและปริมาณเงินใหญ่พอก็จะส่งผลกระทบลูกโซ่ทำให้การเงินทั้งระบบปั่นป่วน ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะไม่มีเงินไหลเวียนในระบบซึ่งจะส่งผลหลายประการรวมถึงการซื้อสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นโดยเฉพาะปัจจัยสี่ และเมื่อถึงเวลานั้นประเทศที่สามารถอยู่รอดได้คือประเทศที่สามารถผลิตปัจจัยสี่เพียงพอเลี้ยงคนในประเทศ ในขณะที่ประเทศที่ไม่มีฐานภาคเกษตรเพียงพอจะอยู่ไม่ได้เพราะขาดแคลนอาหาร

"เวลานี้เรายังพอมีเวลาและมีทางเลือกสำหรับอนาคต ผมคิดว่าประเทศไทยควรกำหนดวิสัยทัศน์เศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่ผมเรียกว่า "เศรษฐกิจกระแสกลาง" คือเราสามารถที่จะเป็นเศรษฐกิจ "ใกล้เสรีนิยม" ที่ไม่ใช่เป็นเสรีนิยมแบบสุดโต่ง ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นเศรษฐกิจ "ใกล้พึ่งตนเอง" โดยเน้น "เศรษฐกิจพึ่งตนเองในปัจจัยสี่" คือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ผลิตปัจจัยสี่ ทั้งผลิตอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเลี้ยงคนทั้งประเทศได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นยามวิกฤตหรือในยามปกติ แต่นอกเหนือปัจจัยสี่เราไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งตนเองเพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิตในจุดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ"

ผอ.ไอเอฟดี กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองในปัจจัยสี่ได้ รัฐจำเป็นต้องสร้างฐานเศรษฐกิจของชาติอยู่บนฐาน "ความแข็งแกร่งของภาคการเกษตร" ที่เรามีพื้นฐานความสามารถและความชำนาญมานานนับตั้งแต่อดีต นำมาต่อยอดความรู้และพัฒนาความก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย และใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากที่สุด โดยรัฐต้องคำนวนความสามารถในการจัดสรรทรัพยากร การใช้ที่ดิน การใช้วัตถุดิบ ให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่มีอยู่ทั้งในปัจจุบันและที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยพิจารณาว่าเรามีที่ดินเหมาะสมจะปลูกอะไรและคำนวณดูว่าภาคเกษตรขนาดใหญ่เพียงใดจึงสามารถเลี้ยงประชากรในประเทศได้ ซึ่งต้องรวมประชากรที่อยู่นอกภาคเกษตรและประชากรที่กำลังจะเพิ่มขึ้นด้วย

"ผมเห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่ได้เปรียบไม่ใช่การลอกเลียนแบบผลผลิตของประเทศอื่น แต่ต้องตั้งอยู่บนฐาน "ความแข็งแกร่ง" ของประเทศไม่ใช่ฐาน "ความอ่อนแอ" ของประเทศแม้ว่าจะดูเหมือนมีความก้าวหน้าและทันกระแสโลก เพราะในที่สุดพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศจะไม่สามารถรองรับได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเดินอยู่บนเศรษฐกิจที่หลงทิศ เรามุ่งพัฒนาประเทศที่เน้นภาคอุตสาหกรรม ใช้แรงงานไร้ฝีมือเป็นจุดขาย แต่ขณะเดียวกันก็ละทิ้งภาคการเกษตรซึ่งเป็น "จุดแข็งแกร่ง" ของประเทศมากว่า 700 ปี ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ จึงก่อให้เกิดความยุ่ยสลายในทิศทางเศรษฐกิจกระแสหลักที่ไม่สามารถเเลี้ยงตนเองได้ เราส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ทำให้เรานั้นได้เพียงค่าจ้างแรงงาน แต่ทั้งทุน อุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบ หรือเทคโนโลยี ล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์น้อยมากจากการลงทุน รวมทั้งเกิดการไร้เสถียรภาพในการพึ่งพิงตนเองในระยะยาว"

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องใช้นโยบายที่เรียกว่า นโยบายปรับตัวตามภาวะวิกฤต (Switching Policy) โดยหากช่วงเวลาในอนาคตยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเราก็ยังคงเข้าร่วมกับกลุ่มองค์การการค้าโลก เข้าร่วมในเครือข่ายเปิดเสรีทางการเงิน การค้าและการลงทุนต่าง ๆ เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ โดยมุ่งผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานเพื่อเลี้ยงตนเองได้และมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) เพื่อทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้นและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้ อุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ที่ยังพอมีอนาคตดีก็ควรได้รับการส่งเสริมต่อไปด้วย เพื่อเตรียมพร้อมให้สามารถเข้าเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก (WTO) ในอีก 7-8 ปีข้างหน้าได้ แต่ในขณะที่เกิดวิกฤตประเทศไทยก็ไม่ต้องรับผลกระทบจากความยากจนเพราะขาดแคลนปัจจัยสี่อย่างกระทันหัน เพราะประเทศไทยได้เตรียมพร้อมที่จะอยู่แบบพอมีพอกินยามวิกฤตแล้ว เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยจะไม่อยู่ในภาวะอดอยากเหมือนประเทศอื่นที่ไม่มีพื้นฐานทางเกษตรกรรม เช่น ประเทศไทยจะได้เปรียบสิงคโปร์ที่ไม่มีแหล่งอาหารสำรองในประเทศ

"เราต้องสมจริงสมจังทางนโยบาย ผมคิดว่า ความไม่รอบคอบเกิดขึ้นเมื่อเราขาดวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตอย่างสมเหตุผลและครบถ้วน เราต้องคิดอย่างเป็นกลางโดยต้องปล่อยให้คนในประเทศเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสมถะในยามวิกฤติ ในยามปกติก็เปิดประเทศค้าขายกับต่างชาติเพื่อสร้างความมั่งคั่งและทำให้ประเทศไทยไม่หลุดขั้วจากเวทีโลก

รัฐบาลผู้รับผิดชอบหลักในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศควรตระหนักชัดถึงความสำคัญนี้ ในขณะที่เรายังพอมีเวลาเตรียมตัวอีกหลายปี ถ้าเราเร่งกำหนดอนาคตในทิศทางที่ถูกต้องและรอบคอบ เพราะหากเราไม่มีการเตรียมการระยะยาวที่ชัดเจนแต่มุ่งเดินไปข้างหน้าทีละก้าว ๆ อย่างขาดวิสัยทัศน์ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเมื่อเราก้าวพลาดไป เราจะไม่มีช่วงเวลาแห่ง "การเตรียมความพร้อม" เช่นนี้อีกเลยในประวัติศาสตร์ชาติไทย กระแสโลกจะบีบรัดและบงการเราให้อยู๋ใต้อาณัติอย่างไม่มีทางเลี่ยง" ผอ.ไอเอฟดี กล่าวในตอนท้าย--จบ--

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit