กรุงเทพ--17 มิ.ย.--บจม.ธนาคารแหลมทอง
"สุรเกียรติ์" ชี้เศรษฐกิจไทยโงหัวไม่ขึ้น ตกต่ำสุดช่วงปลายปี 41 ก่อนฟื้นตัวช้าๆในปีหน้า เร่งรัฐบาลเข้ามาร่วมแก้ไขต่างชาติทวงหนี้สถาบันการเงินไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมยืดอายุหนี้เทศหรือขยายผลไปสู่การแปลงหนี้เป็นพันธบัตรระยะยาว เตือนไม่เร่งสะสางหนี้ระยะสั้นกว่า 8 แสนล้านบาทพร้อมไหลออก กู้เพิ่มเข้ามาเท่าไรก็ไม่พอ กระทบเศรษฐกิจทั้งระบบขาดเม็ดเงินต้องยืนแห้งตาย
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสเปิดธนาคารแหลมทอง สาขาอุดรธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยว่าสำหรับภาพข้างหน้าของเศรษฐกิจไทยนั้น เชื่อว่ายังเป็นเศรษฐกิจขาลงต่อไปและจะยาวนานกว่าที่คาดว่าจะลดต่ำสุดเดือนมิถุนายน โดยจุดต่ำสุดคงอีกประมาณ 5 เดือนจากนี้ หรือประมาณในช่วงปลายปีเศรษฐกิจจะไปถึงจุดต่ำสุดแล้วถึงจะค่อย ๆ เงยหัวขึ้น
"คิดว่าเศรษฐกิจของเราหดตัวมากกว่าที่คิด ถ้าเผื่อเราต่ำสุดเดือนมิ.ย.จริงก็ดีเพราะหมายถึงว่าเราเริ่มจะดีขึ้นหรือกำลังจะดีขึ้น แต่ผมว่าคงต้องอีกสัก 5 เดือนจึงจะถึงจุดต่ำสุด เวลานี้การว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ เกรงว่าถ้าเศรษฐกิจตกต่ำหนักต่อเนื่องไปอีก 5-6 เดือนข้างหน้าจนกว่าจะถึงจุดหนักสุด ผมเกรงว่าความเจ็บปวดในช่วง7-8 เดือนที่ผ่านมา เป็นความเจ็บปวดของคนมีสตางค์ แต่จากนี้ไปจะเริ่มกลายเป็นความเจ็บปวดของประชาชนที่มีรายได้น้อยค่าครองชีพจะสูงขึ้นแค่ไหน รายได้จะลดลงแค่ไหน คนจะตกงานกันอีกกี่แสนคนจากจำนวนเกือบ 2 ล้านคนที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เราจะต้องพบต้องเห็น"
ดร.สุรเกียรติ ได้กล่าวต่อไปว่าสภาพคล่องทางการเงินจะยังเป็นปัญหาหลักอยู่ จนกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องต่างประเทศทวงหนี้สถาบันการเงินไทยได้เวลานี้เจ้าหนี้ต่างประเทศเจรจากับภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม และยอมยืดหนี้ให้ เพราะรู้ว่าถ้าไม่ต่ออายุก็ไม่มีจะจ่าย แต่ยังมีหนี้ที่เป็นส่วนของสถาบันการเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหนี้ต่างประเทศไม่ยอมต่ออายุให้ เพราะรู้ว่ารัฐบาลค้ำประกันเจ้าหนี้ต่างประเทศ สถาบันการเงินที่อาวัลลูกค้าตนเองหรือกู้เงินต่างประเทศในอดีตต้องสำรอง และชำระคืนหนี้ต่างประเทศทุกครั้งที่ธนาคารต่างประเทศเรียกเงินคืน เรามีหนี้ระยะสั้นต้องจ่ายในปี 2541 กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 800,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลได้เสนอพระราชกำหนดและจะกู้เงินจากต่างประเทศประมาณ 200,000 ล้านบาทแต่เงินที่กู้เข้ามาจะเพียงพอหรือไม่ เพราะถังยังรั่วอยู่เงินที่ต้องไหลออกไปในปีนี้มีมากถึง 800,000 ล้านบาทกู้มาเท่าไรสภาพคล่องก็ไม่มี เพราะธนาคารต้องเตรียมเงินสำหรับจ่ายหนี้ของประเทศตลอด
สำหรับทางออกเรื่องนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลเข้ามาทำแบบประเทศเกาหลี รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศให้กับสถาบันการเงินไทย โดยรัฐบาลในฐานะคนค้ำประกันมีเหตุผลการเข้ามาช่วยเจรจาอย่างเต็มที่ รัฐบาลก็เรียกเจ้าหนี้มาแล้วบอกว่าในฐานะที่ค้ำประกันอยู่จะเรียกคืนทำไมไม่เชื่อรัฐบาลหรืออย่างไร ถ้าหนี้เหล่านี้ได้รับการยืดอายุออกไปเป็น 3-5 ปีทำให้สถาบันการเงินไม่ต้องสำรองเงินกันมาก มีสภาพคล่องเหลือที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบ
นอกจากนี้หากทำได้น่าจะขยายผลไปอีกระดับ เพราะเมื่อรัฐบาลค้ำประกันแล้วควรจะเจรจาเปลี่ยนหนี้ส่วนหนึ่งเป็นพันธบัตรระยะยาว 5-7 ปีให้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ เป็นพันธบัตรที่รัฐบาลค้ำประกันและอาจจะนำพันธบัตรนั้นมาเป็นเงินทุนของสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้ลดแรงกดดันที่สถาบันการเงินต่างๆ ที่จะต้องเพิ่มทุนลงด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญแก้ปัญหาการสำรองเงินของสถาบันการเงินเพื่อชำระคืนต่างประเทศแล้ว เงินกู้ใหม่ที่ได้เข้ามาจะต้องมีช่องทางอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ โดยอัดฉีดเข้ามาใช้ในงบประมาณเพื่อให้พวกธุรกิจที่ทำอยู่กับรัฐมีสภาพคล่องขึ้นมาทันที อีกส่วนหนึ่งใช้ผ่านรัฐวิสาหกิจบางแห่งซึ่งมีโครงการต่าง ๆ ชะลออยู่จะได้เดินต่อทันทีส่งผลให้ภาคเอกชนมีงานทำมีสภาพคล่องมีเงินสะพัดอยู่ในระบบพร้อมกันนี้ต้องไม่ละเลยพี่น้องคนยากจน ทำให้ต้องอัดฉีดเงินโดยตรงให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ปล่อยเงินไปให้เกษตรกรหรือเศรษฐกิจชุมชนโดยเร็ว รวมทั้งต้องส่งให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อกระจายต่อไปช่วยคนต้องการที่อยู่อาศัยเงินเหล่านี้จะหมุนต่อเข้าสู่ระบบ โดยรัฐบาลจะต้องเดินไปเต็มที่
ดร.สุรเกียรติ์ ได้กล่าวถึงปัญหาสภาพคล่องในขณะนี้ว่า รัฐบาลจะต้องแก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯไม่ให้เข้ามาแย่งสภาพคล่องในตลาดเงิน เพราะกองทุนฟื้นฟูฯเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินจนหมดเงิน และไปกู้จากสถาบันการเงินที่ยังมีเงินเหลืออยู่ และธนาคารทั้งหลายที่มีสภาพคล่องก็ย่อมอยากจะปล่อยกู้ให้ เพราะไม่มีความเสี่ยงเป็นการกู้ของรัฐ เรียกคืนเมื่อไรก็ได้ ดอกเบี้ยก็สูง ไม่จัดเป็นเอ็นพีแอล หรือหนี้สงสัยใดๆ ทั้งสิ้นอย่างเงินเพิ่มทุนของธนาคารกสิกรไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทยก็บอกชัดเจนแล้วว่าเงินเพิ่มทุนได้มา 30,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กองทุนฟื้นฟูฯหมด ซึ่งการแก้ไขกรณีนี้ส่วนหนึ่งรัฐบาลมีแผนจะไปกู้เงินต่างประเทศระยะยาวมาให้ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการขายรัฐวิสาหกิจนำเงินมาให้กองทุนฟื้นฟู
สำหรับการเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน และกฎเกณฑ์การตั้งสำรองใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยกดดันปัญหาสภาพคล่องเช่นกัน สถาบันการเงินต้องเพิ่มทุน เพราะลูกหนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ และทางการได้ปรับเกณฑ์เดิมกำหนดให้หนี้ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย 6 เดือนเป็นหนี้สงสัย ต่อมาได้ปรับใหม่หากไม่จ่ายดอกเบี้ยใน 3 เดือนเป็นหนี้สงสัย ทั้งที่ความจริงแล้วเวลานี้การไม่จ่ายดอกเบี้ยในช่วง 3 เดือน เป็นเรื่องปรกติในวงการธุรกิจเวลานี้เพราะหมุนเงินไม่ทัน รวมทั้งการปรับกฎให้ได้เพิ่มอัตราส่วนการตั้งสำรองจาก 15% เป็น 20% เมื่อจำนวนหนี้สงสัยเพิ่มขึ้น และเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นทำให้สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองมากขึ้น สถาบันการเงินจึงไม่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าหรือต้องพิจารณาอย่างเข้มงวดมาก และเปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่หากการพิจารณาหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันมาเป็นการพิจาณาความสามารถชำระหนี้และสภาพคล่องของธุรกิจด้วย เพราะอาคารหรือที่ดินซึ่งนำมาค้ำประกันในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้อีก 3เดือนมูลค่าอาจจะหายไป 20% มูลหนี้ก็ไม่พอดีกัน ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับฐานะการดำเนินงานและต้องเพิ่มทุน แต่การเพิ่มทุนในยามที่คนไทยไม่มีสตางค์จากต่างประเทศ เวลานี้ต่างชาติจึงเป็นกลุ่มที่เข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินไทย
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 260-0090 ต่อ 345 และ 442 คุณบุญชัย, คุณชมชลี, คุณแสงจันทร์--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit