ท่อก๊าซฯ ไทย-พม่า เสร็จสมบูรณ์พร้อมทดลองรับ-ส่ง ก๊าซฯ ปลายเดือนนี้

01 Jul 1998

กรุงเทพ--1 ก.ค.--ปตท..

นายปิติ ยิ้มประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซธรรมชาติ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยว่า โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งยาดานา สหภาพพม่า ของ ปตท. ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำการต่อเชื่อมท่อส่งก๊าซฯ ของไทย เข้ากับท่อส่งก๊าซฯ ของสหภาพพม่า แล้วที่ บริเวณชายแดน ไทย-พม่า บ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และประมาณปลายเดือนนี้ เป็นต้นไป ปตท.จะเริ่มทำการทดลองรับ-ส่ง ก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาเข้าสู่ระบบท่อก๊าซ ฯ ของ ปตท. เพื่อทดสอบระบบด้านเครื่องกล (Mechanical) ระบบอีเล็กทรอนิค (Electronic) และเครื่องมือ ตรวจวัดและควบคุม (Instrument) ซึ่งเป็นระบบและอุปกรณีที่ใช้ในการรับ-จ่ายก๊าซฯ ในระบบท่อทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะจ่ายเข้าโรงไฟฟ้า จ.ราชบุรี ของกฟผ. ต่อไป นับเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งความสำเร็จจากการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-พม่า มูลค่า 16,500 ล้านบาทนี้ นอกจากจะสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ คือมีสัญญารับก๊าซฯ ถึงวันละ 525 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แล้วยังเป็นการจัดหาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า และพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศในอนาคตอีกด้วย

นายปิติ ชี้แจงว่า ปตท. พร้อมจะจ่ายก๊าซฯ ให้แก่โรงไฟฟ้าราชบุรี ที่ปรับมาใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (25 เมกกะวัตต์) ที่กฟผ.นำมาติดตั้งชั่วคราว แทนเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาด 200 เมกกะวัตต์ แต่ปตท.มีความจำเป็นต้องดัดแปลงอุปกรณ์ การรับ-จ่ายก๊าซฯ เพื่อให้สามารถจ่ายก๊าซฯ ในประมาณต่ำกว่าที่ออกแบบไว้สำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 200 เมกกะวัตต์

จึงคาดว่าจะทดลองส่งก๊าซฯ ได้ประมาณปลายเดือนนี้

อนึ่ง เพื่อความปลอดภัยในการ รับ-ส่ง ก๊าซฯ ก่อนหน้านี้ ปตท. ได้ดำเนินการตรวจสอบรอยเชื่อมของท่อฯ แต่ละท่อนด้วยการ X-RAY 100% ก่อนฝังกลบท่อฯ และเมื่อทำการฝังกลบท่อฯ และ ปตท.ยังได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพท่อฯ ด้วยวิธีมาตรฐานสากล 2 ระบบ คือการตรวจสอบด้วยแรงดันน้ำ ที่มีค่าความดันในระดับเกือบ 2 เท่า ของค่าความดันสูงสุดที่จะใช้ในการส่งก๊าซฯ เพื่อให้แน่ใจว่าท่อก๊าซฯ ที่ทำการเชื่อม และฝังกลบเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น สามารถรับแรงดันได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดรอยรั่ว จากนั้นได้ทำการตรวจสอบสภาพภายในเส้นท่อด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า CALIPER PIG ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค โดยระหว่างเคลื่อนไปภายในท่อด้วยระบบแรงดันอากาศ เครื่องมือจะบันทึกค่าการตรวจสอบโดยระบบอิเล็กทรอนิค แล้วนำผลมาวิเคราะห์ว่าภายในท่อฯ มีรอยชำรุด หรือมีการบิดเบี้ยวไปจากมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจว่าระบบท่อฯ ทั้งระบบเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้--จบ--