บาร์เทอร์คาร์ดเปิดตัวระบบการค้าแลกเปลี่ยนทางตรงแห่งแรกในไทย เสริมสภาพคล่องธุรกิจยุคไอเอ็มเอฟ

04 Jun 1998

กรุงเทพ--4 มิ.ย.--บาร์เทอร์คาร์ด

บาร์เทอร์คาร์ด ผู้ให้บริการระบบแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทางตรง หรือระบบ "บาร์เทอร์" รายใหญ่ที่สุดจากประเทศออสเตรเลีย เปิดตัวธุรกิจเครือข่ายแห่งใหม่ครั้งแรกในไทย ปรับกลยุทธ์ย้อนยุคระบบการค้าแลกเปลี่ยนแบบดั้งเดิมให้เข้ากับรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ ชี้ช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ย้ำเอกลักษณ์ความยืดหยุ่น คล่องตัว มูลค่าการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า และโอกาสการขยายตัวของธุรกิจการค้าอย่างต่อเนื่อง พาธุรกิจเติบโตได้อย่างแน่นอนแม้ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา

มร. เกรเฮม เบรน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บาร์เทอร์คาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเนื่องในงานเปิดตัวธุรกิจการให้บริการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระบบบัตรบาร์เทอร์คาร์ดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทางตรงโดยไม่ต้องใช้เงินสด หรือระบบ "บาร์เทอร์" เป็นระบบการค้าขายแลกเปลี่ยนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งบริษัทฯ นำมาประยุกต์ให้ทันสมัยและเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจการค้าสมัยใหม่ในปัจจุบันจนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของระบบบาร์เทอร์คาร์ดที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนเป็นไปได้สะดวกง่ายดาย ไม่ซับซ้อน เข้าถึงธุรกิจทุกประเภทและเพิ่มความคุ้มค่าทางธุรกิจให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะธุรกิจองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าธุรกิจของสมาชิกได้ถึงร้อยละ 5 ถึง 20

มร. เบรน กล่าวต่อไปว่า "สำหรับการเปิดตัวบริการบาร์เทอร์คาร์ดในประเทศไทยในขณะนี้นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นคล่องตัวให้แก่สมาชิกได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องใช้เงินสด ทำให้บริการของเราได้รับการต้อนรับและประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศออสเตรเลีย และในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขยายเครือข่ายสมาชิกให้กว้างขวางและครอบคลุมธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของของผู้ใช้บริการทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศทั่วโลก"

"บริการบาร์เทอร์คาร์ดช่วยให้ลูกค้าสามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการของตนโดยการสะสมมูลค่าการแลกเปลี่ยนแบบ "บาร์เทอร์" เพื่อนำไปแลกใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกหลากหลายประเภทได้อย่างไร้ขีดจำกัด นับเป็นการขจัดปัญหาที่มีมานานในระบบการเจรจาธุรกิจการค้าแลกเปลี่ยนแบบบาร์เทอร์อันได้แก่ ปัญหาเรื่องสินค้าและบริการของแต่ละฝ่ายที่นำมาแลกเปลี่ยนมีมูลค่าไม่เท่ากัน และปัญหาการขาดความยืดหยุ่นคล่องตัวในการแลกเปลี่ยน" มร. เบรน กล่าวเพิ่มเติม

ในประเทศไทยธุรกิจหลายประเภทกำลังพยายามผลักดันแผนงานการลงทุนใหม่ ๆ หรือขยายกิจการที่มีอยู่เดิมเพื่อความมั่นคงก้าวหน้าของธุรกิจแม้จะต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งบาร์เทอร์คาร์ดเชื่อมั่นว่าสูตรสำเร็จของบริการบาร์เทอร์การ์ดที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเก็บเงินสดสำรองไว้ใช้ในขณะเดียวกันก็สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจากบริษัทอื่น ๆ มาใช้ได้ และโอกาสในการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้โดยผ่านบริการของบาร์เทอร์คาร์ด จะช่วยเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปัจจุบันอีกด้วย

มร. เบรน ยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่าธุรกิจบาร์เทอร์คาร์ดในประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอนเพราะบริษัทแม่ของบาร์เทอร์คาร์ดก็เปิดตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำใน

ออสเตรเลียเช่นกัน และด้วยปัจจัยส่งเสริมจากระบบบาร์เทอร์นี้เองที่ทำให้บาร์เทอร์คาร์ดแห่งแรกในออสเตรเลียไม่เพียงแต่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจมาได้เท่านั้น แต่ยังสามารถขยายกิจการและเติบโตขึ้นมาได้อย่างมั่นคงได้จนถึงทุกวันนี้

มร. เวนน์ ชาร์ป ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบาร์เทอร์คาร์ดทั่วโลก กล่าวว่า "การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนในระดับนานาชาติสะท้อนให้เห็นว่านักธุรกิจทั่วโลกยินดีที่จะใช้ระบบแลกเปลี่ยนโดยตรงของบาร์เทอร์คาร์ด โดยเฉพาะเมื่อเป็นสมาชิกแล้วจะทำให้ธุรกิจมีโอกาสขยายตัวเติบโตไปได้อีกมาก ในปัจจุบันบริษัทฯ มีเครือข่ายสมาชิกในธุรกิจหลากหลายประเภทกว่าสองหมื่นห้าพันรายในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง

สหราชอาณาจักร ศรีลังกา และมียังบริษัทหุ้นส่วนธุรกิจในญี่ปุ่น แคนาดา และสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ระบบการค้าแลกเปลี่ยนทางตรงของบาร์เทอร์คาร์ดประยุกต์วิธีการเจรจาที่ละเอียดรอบคอบตามที่เคยปฏิบัติกันมาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัว ปลอดภัย และเชื่อถือได้ โดยบาร์เทอร์คาร์ดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและบันทึกข้อมูลการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุดในการดูแลจัดการธุรกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกที่ถือบัตรบาร์เทอร์คาร์ด ซึ่งทำหน้าที่คล้าย ๆ กับบัตรเครดิตโดยจะคิดเป็นหน่วยเครดิตเรียกว่าหน่วยบาทแลกเปลี่ยน (Trade Baht) วิธีนี้ทำให้ธุรกิจที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่มีมูลค่าการแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันมากสามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างรวดเร็วและยุติธรรม

สมาชิกบาร์เทอร์คาร์ดสามารถเก็บ "เทรด บาท" หรือหน่วยบาทแลกเปลี่ยนไว้ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในอนาคต เช่น โรงพิมพ์ที่รับจ้างพิมพ์งานได้รับหน่วยบาทแลกเปลี่ยนหนึ่งแสนเทรดบาทสามารถนำเครดิตจำนวนนี้ไปใช้แลกสินค้าและบริการประเภทอื่น ๆ เช่น ซ่อมรถ ซื้อเครื่องเขียน หรือจ่ายค่าที่พักเดินทางในวันหยุดพักร้อนได้ในจำนวน "เทรดบาท" ที่เท่ากัน โดยบาร์เทอร์คาร์ดจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้ประสานงานการแลกเปลี่ยน (Trade Coordinator) ขึ้นมาเพื่อช่วยสมาชิกเจรจาต่อรองกับธุรกิจองค์กรเป้าหมายให้เข้าร่วมกับเครือข่ายบาร์เทอร์คาร์ด และขยายเครือข่ายบริการให้แก่สมาชิก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหุ้นส่วนคู่ค้าแบบแลกเปลี่ยนจะสามารถติดต่อทำธุรกิจแบบบาร์เตอร์ได้อย่างคล่องตัวและยุติธรรมที่สุด ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของระบบแลกเปลี่ยนทางตรงของบาร์เทอร์คาร์ดนั่นเอง

บาร์เทอร์คาร์ดก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2534 และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจภายในปีแรกที่เปิดดำเนินการ โดยสามารถสร้างมูลค่าการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นสี่แสนดอลล่าร์ออสเตรเลีย และในปีนี้คาดว่าจะสามารถทำยอดมูลค่าการแลกเปลี่ยนได้ประมาณสามร้อยห้าสิบล้านดอลล่าร์

ออสเตรเลีย และภายในระยะเวลา 5 ปีนี้มีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 2,000 ทำให้ บาร์เทอร์คาร์ดเป็นบริษัทเอกชนที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในออสเตรเลีย

สมาคมการค้าแลกเปลี่ยนนานาชาติ (International Reciprocal Trade Association) ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริการะบุว่า

บาร์เทอร์คาร์ดเป็นผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนทางการค้าที่มีขนาดใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก บาร์เทอร์คาร์ดเป็นบริษัทจดทะเบียนกับคณะกรรมาธิการการค้าออสเตรเลีย (Australian Trade Commission) ผู้สนใจขอรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ โทร. 712-7525 หรือ โทรสาร 712-7536--จบ--