กทม.จัดสัมมนาเรื่อง "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ พ.ศ. 2543"

13 Nov 1997

กรุงเทพ--13 พ.ย.--สำนักงานเขตกทม.

วันที่ 12 พ.ย. 40 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว เขตบางพลัด นพ.ขจิต ชูปัญญา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารระดับสูง จำนวน 280 คน เรื่อง "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ พ.ศ. 2543" พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "แผนบริหารโครงการกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่"

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานครได้นำโครงการเมืองน่าอยู่ (Healthy Cities) ขององค์การอนามัยโลกเข้ามาดำเนินการ โดยเริ่มโครงการนำร่องใน 3 เขต ได้แก่ เขตยานนาวา เขตสาธร เขตบางคอแหลม และได้ขยายการปฏิบัติครอบคลุมพื้นที่ 38 เขต และ 2 เขตสาขา ในปีงบประมาณ 2540 ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ Healthy Cities ทำหน้าที่เป็นแกนสำคัญที่จะวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินงานโดยมีแผนบริหารโครงการกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ เป็นแผนแม่บทในการนำโครงการฯ ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการดำเนินงานตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ และประสานแผนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้สามารถดำเนินงานได้สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานและลุล่วงตามเจตนารมณ์ที่จะให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ในปี พ.ศ. 2543 โดยมีผู้เข้าสัมมนา จำนวน 280 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารโครงการ Healthy Cities คณะกรรมการกำหนดขอบเขตการจ้างที่ปรึกษาเพื่อการศึกษามาตรฐานพิจารณาความสำเร็จของโครงการเมืองน่าอยู่ คณะกรรมการติดตามและประเมินสถานภาพเมืองน่าอยู่ฯ ประธานคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตและหัวหน้าสำนักเขตสาขา ผู้อำนวยการกองในสำนักที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหัวหน้าฝ่ายที่ได้รับมอบหมายหน่วยงานละ 1 คน จากกองปกครองและทะเบียน กองประชาสัมพันธ์ สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครทุกสำนักงานเขต และสำนักงานเขตสาขา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน และสื่อมวลชน สำหรับการสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 ภาค ในภาคเช้า ประกอบด้วย การประกาศเจตนารมย์ เรื่อง "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ พ.ศ. 2543" โดย นพ.ขจิต ชูปัญญา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากนั้นเป็นการบรรยาย และการอภิปราย โดยผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งจากหน่วยงานภายนอกได้แก่ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าสัมมนาได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็น สำหรับในภาคบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มเพื่อศึกษาแนวทางการนำโครงการ "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่" ไปสู่การปฏิบัติในการนี้กรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนงบประมาณการสัมมนาฯ จากองค์การอนามัยโลก จำนวน 100,000.-บาท และจากงบประมาณกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2541 จำนวน 40,000.- บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 140,000.-บาท

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาและยกสถานะความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นยังไม่สามารถนำมาผสมผสานกันให้เป็นรูปธรรมชัดเจน การปฏิบัติงานในหน่วยงาน หรือโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ยังกระจัด กระจาย และบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อน ดังนั้นการนำเอาโครงการเมืองน่าอยู่ขององค์การอนามัยโลกเข้ามาประยุกต์ใช้ จึงนับเป็นกระบวนการสำคัญที่จะรวบรวม และจัดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันของแต่ละหน่วยงานให้สามารถแสดงผลออกมาเป็นรูปธรรม มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่สามารถประเมินได้ และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีข้อบกพร่องใดที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะผลจากการประเมินจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริหารในการปรับหรือวางนโยบาย และเผยบริหารการงบประมาณได้ตรงเป้าหมาย เพื่อที่กรุงเทพมหานครได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อม เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุข และพึงพอใจ

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า การจัดสัมมนาในวันนี้ นอกจากเป็นการสร้างความเข้าใจในแนวความคิดของโครงการเมืองน่าอยุ่แล้ว ความสำเร็จของโครงการจะเกิดขึ้นด้วยสัมพันธภาพในการทำงานที่ดีขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในโครงการ เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานอย่างไร และการจะให้บรรลุผลสำเร็จของโครงการเมืองน่าอยู่ได้ต้องขึ้นอยู่กับปณิธานอันแน่วแน่สำหรับอนาคต การสัมมนาในวันนี้คือ ก้าวแรกของกระบวนการเมืองน่าอยู่ ซึ่งผู้เข้าสัมมนาจะเป็นผู้วางแผน ผู้ปฏิบัติ และประชาชนมีความเข้าใจที่สอดคล้อง ชัดเจนในหลักการวิธีปฏิบัติ และตัดสินใจที่จะร่วมมือกัน กระบวนการทำงานของโครงการกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ก็จะเริ่มขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ทั้งระดับสำนัก และทุกสำนักงานเขต จะต้องคอยรักษาระดับค่าสถานภาพของตัวชี้วัดตามเกณฑ์ที่กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ ก็จะให้มองเห็นความหวังไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ก่อนปีพุทธศักราช 2543 หรือตรงกับปีคริสตศักราช 2000 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นปีสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นได้--จบ--