ไทยเปิดความร่วมมือจีนแก้ปัญหาหมอจีน-ยาจีนเถื่อน

14 Nov 1997

กรุงเทพ--14 พ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขไทย - จีน เผยแผนความร่วมมือพัฒนาการแพทย์ในปี 2541 - 2542 ว่า จะเน้น 3 แผนใหญ่คือ การพัฒนาการศึกษาวิจัยสมุนไพรใช้รักษาโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคมาลาเรีย ทั้งนี้ยังเน้นการควบคุมตรวจสอบยาจีน หมอจีนเถื่อน เพื่อป้องกันการหลอกลวงประชาชน

นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายจาง เหวินคัง (Mr. Zhang Wenkang) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขจีนได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านการแพทย์ไทย - จีน ครั้งที่ 1 เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในปี 2541 - 2542 ภายหลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ประเทศด้านการแพทย์การสาธารณสุขและเภสัชกรรม รวม 13 สาขา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ที่ผ่านมา

นายแพทย์ปรากรมกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความเห็นชอบร่วมกันที่จะร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในเรื่องที่เคยร่วมมือกันมาแล้ว อาทิ ด้านสุขภาพจิต และได้เพิ่มความร่วมมือใหม่ซึ่งจะเน้นส่วนที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ และมีการพึ่งตนเองให้มากที่สุด

แผนงานใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการมี 3 สาขาด้วยกัน สาขาแรก ได้แก่ การวิจัยสมุนไพรเพื่อประโยชน์ในการป้องกันรักษาโรคต่าง ๆ ที่สำคัญมี 4 ปัญหาใหญ่ ได้แก่ โรคเอดส์ โรงมาลาเรีย โรคมะเร็ง และการถอนพิษยาเสพติด โดยการรักษาโรคดังกล่าวจะเน้นการผสมผสานการแพทย์แผนตะวันออก และแผนตะวันตกเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะในเรื่องมาลาเรียนั้น ประเทศจีนมีความก้าวหน้ามากโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยจีนกวางเจา สามารถทำให้พื้นที่จีนทั้งหมดไม่เป็นเขตระบาดโรงมาเลเรีย ขณะนี้จีนได้ตั้งศูนย์ทดลองควบคุมมาลาเรียที่ประเทศเวียตนาม ซึ่งยังเป็นเขตระบาดของโรคนี้อยู่มาก ส่วนการรักษาโรคมะเร็งนั้น มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ของจีนนับว่าเป็นศูนย์รักษาโรคมะเร็งขณะนี้ ซึ่งทางจีนได้ให้ 2 สถาบันดังกล่าวเป็นแกนหลักในการร่วมมือครั้งนี้

สาขาที่ 2 คือ การร่วมมือควบคุมมาตรฐานยา เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบปัญหามียาจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศกันมาก รวมทั้งยังมีการลงโฆษณาหนังสือพิมพ์จีนด้วยภาษาจีน ยาบางตัวทางจีนก็ไม่เคยพบเห็นมาก่อนที่จีน ซึ่งจากการตรวจสอบว่าในแต่ละวันจะมีการลงโฆษณาจีนประมาณ 48 รายการ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาจีน ทางเจ้าหน้าที่ก็เช่นกันไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นทั้งไทยและจีนจึงได้ตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านยา โดยมอบเอกสารที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองทั้งหมดให้กันและกัน ซึ่งประเทศจีนจะได้มอบทำเนียบยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองจากรัฐบาลจีนทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษให้แก่ฝ่ายไทย โดยจะส่งผ่านทางคอมพิวเตอต์ในสัปดาห์หน้านี้ นับได้ว่าเป็นลักษณะความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอันดับแรก ที่จะใช้ในการตรวจสอบมาตรฐานของยาจีนให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไป สำหรับในขั้นแรกนี้หากประชาชนที่พบเห็นยาจีนที่จำหน่ายในท้องตลาด สงสัยว่าจะเป็นยาจริงหรือยาปลอม ก็สามารถส่งโทรสารเอกสารยาได้ที่ศูนย์ความร่วมมือไทย-จีน กรมการแพทย์ หมายเลข 591-8243 ทางการกระทรวงสาธารณสุขจะได้ประสานงานกับฝ่ายจีน และแจ้งผลให้ทราบภายใน 3 วัน

สาขาที่ 3 คือ การประยุกต์การแพทย์ไทย - จีน เพื่อประโยชน์ทางด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพ ซึ่งจะดำเนินการพร้อม ๆ ไปกับภาคเอกชน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยทางจีนจะให้มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เป็นหลักของความร่วมมือ ส่วนของไทยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นภาครัฐบาลในการดูแลมาตรฐาน ส่วนภาคเอกชนมีโรงพยาบาลหัวเฉียวเป็นแกนร่วม และยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์มาตรฐานการแพทย์แผนจีนสาขาต่าง ๆ ในการสอบใบประกอบโรคศิลปะอีกด้วย

ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น อีกทั้งสามารถตรวจสอบว่าหมอจีนที่เข้ามารักษาโรคในไทย เป็นหมอที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

สำหรับรูปแบบการร่วมมือครั้งนี้ จะมีทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มาฝึกอบรมศึกษาวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างประเทศไทยกับจีน โดยเฉพาะด้านข่าวสารนั้นจะทำให้เป็นระดับสากล และเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ โดยจะขอความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลกในภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดความร่วมมือต่อไปโดยได้กำหนดการประชุมติดตามครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่งในปีหน้านี้--จบ--