กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ไทยออยล์
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเยี่ยมชมโรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายพละ สุขเวช ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด นายจุลจิตต์ บุญยเกตุ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด และฝ่ายจัดการให้การต้อนรับ พร้อมนี้ ได้รายงานสถานการณ์บริษัทฯ ตลอดจนการบริหารองค์กรภายใต้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อนำไทยออยล์ฝ่าวิกฤติ และย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับกระบวนยุทธครั้งใหญ่ ใช้กลยุทธ์ Synergy ผสานจุดแข็งกับพันธมิตรธุรกิจ
เพื่อเสริมรากฐานความอยู่รอดอย่างแข็งแกร่ง รองรับการแข่งขันของตลาดพลังงานในอนาคตได้อย่างมั่นคง
นายจุลจิตต์ บุณยเกตุ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ บริษัทฯ ว่าปัจจุบันไทยออยล์ดำเนินการผลิตผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเป็นรายใหญ่ของประเทศด้วยกำลังการกลั่น 220,000 บาร์เรลต่อวัน และขยายการลงทุนสู่ธุรกิจต่อเนื่องซึ่งริเริ่มในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ ธุรกิจผลิตผงคาร์บอนแบล็ค บริษัท ผลิตภัณฑ์คาร์บอนไทย จำกัด ธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน บริษัท ไทยลู้บเบล จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลประกอบการโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ล่าสุดบริษัทฯ ได้กระจายฐานธุรกิจไปสู่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไฟฟ้า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน คาดว่าโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาด 700 เมกะวัตต์ ภายใต้โครงการไอพีพีของบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด จะแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ราวกลางปี 2542 สำหรับบริษัทไทยออยล์เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาด 115 เมกะวัตต์ ตามโครงการเอสพีพี ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ ส่วนโรงงานผลิตสารพาราไซลีนกำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี ของบริษัทไทยพาราไซลีน จำกัด จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2542
นายจุลจิตต์เปิด เผยถึงแผนการผสานความร่วมมือทางธุรกิจ (Synergy) ระหว่างไทยออยล์และปตท.นั้น กล่าวได้ว่าเป็นแนวทางเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจ เพื่อรองรับการแข่งขันอย่างสูงในอนาคตและเพื่อก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้นำด้านพลังงานแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ไทยออยล์ในฐานะโรงกลั่นที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศ มีความแข็งแกร่งด้านการผลิตเป็นพื้นฐานสำคัญ ปตท. ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นหน่วยงานพลังงานแห่งชาติมีจุดแข็งมากทางด้านการตลาด โดยครอบครองส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 36% ของตลาดทั้งหมด มีความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ เพื่อป้อนตลาดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การรวมจุดเด่นของสององค์กรเข้าด้วยกันจึงน่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากันในรายละเอียด คาดว่าจะมีผลสรุปเป็นรูปธรรมเร็ว ๆนี้
นอกจากกลยุทธ์ Synergy แล้ว ไทยออลย์ยังดำเนินการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างเข้มงวด โดยปีนี้ไทยออยล์จะชะลอการลงทุนโครงการต่าง ๆ บางโครงการ โดยจะคงกำลังการกลั่นเดิมไว้ และพยายามเพิ่มพูนศักยภาพการกลั่น ตลอดจนเพิ่มอรรถประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ การจัดหาน้ำมันดิบ กระทั่งถึงบุคลากรอันเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร ทั้งนี้ จะครอบคลุมไปถึงการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ ลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต เพื่อนำเชื้อเพลิงส่วนที่เหลือกลับมาหมุนเวียนใช้ในกระบวนการอีกครั้ง ซึ่งในส่วนนี้ จะทำให้บริษัทลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันได้ถึงปีละ 620 ล้านบาท
สำหรับการลดภาระหนี้ บริษัทฯ ยังสามารถปรับลดลงได้อีกประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนในส่วนของการลดสำรองน้ำมันจาก 3.6 ล้านบาร์เรล เหลือ 1.8 ล้านบาร์เรล เป็นผลให้สามารถลดภาระเงินกู้ได้ 27 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,400 ล้านบาท หรือเท่ากับลดภาวะการจ่ายดอกเบี้ยได้ประมาณ 180 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งตัดงบการลงทุนเพื่อการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 และหน่วยผลิตยางมะตอย และลดขนาดของโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วบางโครงการ ทำให้ลดภาระเงินกู้ได้อีก 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,600 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างเข้มงวดอีกประมาณ 500 ล้านบาท โดยแผนการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 แล้ว ซึ่งบริษัทฯ ได้ปฎิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ไทยออยล์ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจในปัจจุบัน--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit