ไจก้าทุ่ม 35 ล้าน กู้วิกฤตเอดส์

05 Jan 1998

กรุงเทพ--5 ม.ค.--ไจก้า

องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan Internation Cooperation Agency-JICA) ให้การสนับสนุนงบประมาณ 35 ล้านบาท แก่กระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนารูปแบบการป้องกันและการดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์แบบผสมผสาน ที่จังหวัดพะเยา เป็นเวลา 5 ปี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการคาดว่า จะลดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ได้ไม่ให้เกิน 2%

น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบการป้องกันและการดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์แบบผสมผสาน ให้สัมภาษณ์ว่าองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พอใจผลการดำเนินงานโรคเอดส์ของจังหวัดพะเยา ที่ผ่านมาให้การควบคุมและป้องกันโรคเอดส์อย่างได้ผล เช่น การรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย100% การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้โสเภณีมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อเอดส์น้อยลง

ทางไจก้าเห็นในความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาโรคเอดส์ของจังหวัดพะเยา จึงสนับสนุนงบประมาณ 35 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการต่อเนื่องมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2545

น.พ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณ ไจก้าสนับสนุนประมาณ 35 ล้านบาท จะเป็นในรูปวัสดุอุปกรณ์ปีละประมาณ 5 ล้านบาท งบดำเนินการปีละประมาณ 2 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมดำเนินการตลอดโครงการรวมทั้งจัดให้ทุนไปฝึกอบรม ดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ปีละ 2-4 คนอีกด้วย

สำหรับการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานโครงการ

เน้นการป้องกันและการดูแลแบบผสมผสานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์มีอัตราการเติบโตเชื้อสูง จากปี 2538 พบ 5.6% ปี 2540 เหลือ 4.9% มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการให้คำปรึกษาผู้ที่จะมีครอบครัว มีการตรวจเลือดก่อนสมรสและก่อนตั้งครรภ์เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ทารกที่เกิดมาติดเชื้อ

คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการสามารถลดการติดเชื้อของหญิงตั้งครรภ์ให้ไม่เกิน 2% ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อในเด็กทารกแรกเกิดลดลงด้วย ในส่วนของเด็กวัยรุ่นที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อถึง 6% ได้ประสานความร่วมมือกันกับกระทรวงศึกษาธิการ รณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอดส์ ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เป็นการเตรียมป้องกันไว้ก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ นอกจากนี้ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชนต่างๆ ให้มีความรู้การส่งเสริมการป้องกันการติดเชื้อแบบครบวงจร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก ในกลุ่มประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ติดเชื้อมีการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม มีการตั้งกลุ่ม/ชมรมผู้ติดเชื้อเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ติดเชื้อ ในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม หารายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในขณะนี้ทางจังหวัดพะเยามีชมรมเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

น.พ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการพัฒนารูปแบบการป้องกันและการดูแลผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์แบบผสมผสาน คาดว่าโครงการดังกล่าวสามารถนำไปทดลองขยายผลในจังหวัดอื่น ทำให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมแลป้องกันโรคเอดส์ในประเทศ--จบ--